ตโจ | น. หนัง เป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๒๐ สิ่งของธาตุดิน, เขียนว่า ตะโจ ก็มี |
ต้ม | ก. เอาของเหลว เช่น น้ำ ใส่ภาชนะ แล้วทำให้ร้อนให้เดือด หรือให้สุก เช่น ต้มยา ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๑๖๑] ตอนหนึ่งว่า "... ขนานหนึ่งเอาใบพลวง ๑ รากกล้วยแดง ๑ รากกล้วยตีบหอม ๑ รากกล้วยหอม ๑ รากตาเสือ ๑ เอาเสมอภาค ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล ..." |
ต้ม ๓ เอา ๑ | ดูใน ยาต้ม |
ตรีกฏุก, ตรีกุฏุก, ตรีกระฏุก | น. พิกัดยาชนิดหนึ่ง จำกัดของเผ็ดร้อน ๓ อย่าง ได้แก่ ขิงแห้ง พริกไทย และดีปลี ในปริมาณเท่ากันโดยน้ำหนัก พิกัดนี้มีรสเผ็ดร้น สรรพคุณแก้วาตะ เสมหะ ปิตตะ ในกองธาตุ ฤดู อายุ และกองสมุฏฐาน |
ตรีชะวาสังข์ | น. ยาแผนไทยขนานหนึ่ง ใช้แก้ปถวีธาตุพิการ มีตัวยา วิธีปรุง วิธีใช้ และสรรพคุณ ดังคัมภีร์ธาตุวิภังค์ [๑/๑๑๙] ตอนหนึ่งว่า "... ยาชื่อตรีชะวาสังข์ แก้ปัถวีธาตุพิการ คือสมองกระดูกม้าม ให้เอากะเทียม ๑ ใบสะเดา ๑ ใบคนทีสอ ๑ เปลือกต้นตีนเปด ๑ เบญจกูล ๑ จันทน์ทั้ง ๒ สมอทั้ง ๓ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ตรีกะฏุก ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละส่วน เปลือกกันเกรา ๒ ส่วน เปลือกสมุลแว้ง ๓ ส่วน ตำผงละลายน้ำผึ้งกินแก้ปัถวีธาตุ ๑๐ ประการแล ..." |
ตรีโทษ | ว. อันเกิดจากกองสมุฏฐานปิตตะ วาตะ และเสมหะทั้ง ๓ กองสมุฏฐานร่วมกันกระทำให้เกิดโทษ |
ตรีผลา | [-ผะลา] น. พิกัดยาชนิดหนึ่ง จำกัดผลไม้ ๓ อย่าง ได้แก่ สมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม ในปริมาณเท่ากันโดยน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ในตำราสรรพคุณยาฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ระบุชนิดของผลไม้ ๓ อย่างแตกต่างกันไป คือ มีสมอเทศแทนมะขามป้อม พิกัดนี้มีรสเปรี้ยวฝาด สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะในกองธาตุ ฤดู อายุ และกองสมุฏฐาน (คำนี้แพทย์แผนไทยนิยมอ่านว่าตรีผะหลา) |
ตรีสันฑฆาต, ตรีสันทฆาต, ตรีสันทะฆาฎ | [ตรีสันทะคาด] น. โรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการกระทบกระแทกอย่างแรงจนชอกช้ำ เป็นอาการต่อเนื่องจากเอกสันฑฆาตหรือโทสันฑฆาต เกิดเป็นเม็ดผุดขึ้นภายในบริเวณดี ตับหรือลำไส้ ทำให้เป็นไข้ จุกเสียด ท้องพอง มีอาการเพ้อคลั่ง ประดุจผีเข้าสิง ถ้าเป็นนาน ๗-๙ วัน โลหิตจะแตกออกตามทวารทั้ง ๙ ดู สันฑฆาต ประกอบ |
ตรีสาร | น. พิกัดยาชนิดหนึ่ง จำกัดตัวยา ๓ อย่าง ได้แก่ รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน และรากช้าพลู ในปริมาณเท่ากันโดยน้ำหนัก พิกัดนี้รสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้เสมหะ ปิตตะ วาตะในกองธาตุ ฤดู อายุ และกองสมุฏฐาน |
ตะเกียบ | น. ส่วนล่างของกระดูกเชิงกรานที่แตะพื้นในเวลานั่ง |
ตะคาก | ดู หัวตะคาก |
ตะโจ | ดู ตะโจ |
ตะโพกสลักเพชร | ดูใน สลักเพชร, สลักเพ็ด |
ตาน | น. โรคเด็กประเภทหนึ่ง มักเกิดในเด็กอายุตั้งแต่ ๕-๑๒ ขวบ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ตานโจรและตานจร |
ตานขโมย | ดู ตานโจร |
ตานจร | น. โรคตานชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นกับเด็กที่เกิดในวันใดก็ได้ มีชื่อแตกต่างกันไปป เช่น กะระ พรหมกิจ สันตุกมิต สาระ พะกะระ ซึ่งตานจรแต่ละประเภทนี้มีสาเหตุและอาการแตกต่างกัน |
ตานโจร | น. ตานที่เกิดกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๕-๖ ขวบ เป็นต้นไปจนถึง ๗ ขวบ แพทย์แผนไทยเชื่อว่ามักเกิดจากการกินอาหารอันทำให้เกิดพยาธิในร่างกายมีอาการหลายอย่าง เช่น ลงท้อง ธาตุวิปริต ชอบกินของสดของคาว กินอาหารได้น้อย อุจจาระเหม็นคาวจัด อุจจาระกะปริบกะปรอยหรือเป็นมูกเลือด บางทีเลือดออกสด ๆ ทำให้เด็กซูบซีด เมื่อเป็นนานประมาณ ๓ เดือน จะมีอาการลงท้อง ตกเลือดดั่งน้ำล้างเนื้อ ปวดมวนเป็นมูกเลือด ดากออก ตัวผอมเหลือง, ตานขโมย ก็เรียก |
ตาปลา | น. หนังซึ่งด้านเป็นไตแข็งรูปลักษณะคล้ายตาของปลา มักเป็นที่ฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้า |
ตาย | "ก. ๑. สิ้นใจ สิ้นชีวิต ไม่เป็นอยุ่ต่อไป ๒. สิ้นสภาพของการมีชีวิต เช่น สภาวะสมองตาย เนื้อตาย ๓. เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น มือตาย ตีนตาย ๔. รับความรู้สึกไม่ได้" |
ตาระสกะโรค, ตาระสะกะโรค | น. ริดสีดวงประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นในหัวหน่าวและท้องน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยมาก ปัสสาวะขัด หยดย้อย แสบร้อนในท่อปัสสาวะมาก ดังตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม [๔/๒๗๒] ตอนหนึ่งว่า "... ลำดับนี้จะกล่าวด้วยนับหนึ่งใหม่ ว่าด้วยลักษณะหฤศโรค อันชื่อว่าตาระสกะ กล่าวคือโรคริดสีดวง อันบังเกิดขึ้นในเหน่าและท้องน้อยนั้นเป็นคำรบ ๑๐ มีอาการกระทำให้ปวดท้องน้อยเป็นกำลัง บางทีให้ขัดปัสสาวะ บางทีให้ปัสสาวะบ่อย ๆ และหยดย้อย มิสะดวก ให้แสบร้อนในลำปัสสาวะยิ่นัก ฯ ..." ดู ริดสีดวง ประกอบ |
ตาแหก | น. อาการที่ลืมตาเปิดได้ไม่เต็มที่ และลหับตาไม่สนิท |
ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม | น. ตำราการแพทย์แผนไทยฉบับหนึ่ง รวบรวมจากเนื้อหาในศิลาจารึกที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ซึ่งติดอยู่ตามศาลารายของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) โดยคณะอาจารย์โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ มีเนื้อหาสำคัญ ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกรวม ๑๖๕ หน้าว่าด้วยวิชาหัตถศาสตร์ (แผนการนวด) รูปฤๅษีดัดตนและโคลงภาพฤๅษีดัดตน ส่วนหลังมี ๔๗๘ หน้า ว่าด้วยตำรายาวัดโพธิ์ โรคต่าง ๆ และยาแก้ แม่ซื้อ ลำบองราหู ซาง สมุฏฐาน ๔ ประการ ริดสีดวง ต้อ กำเนิดแห่งลม เป็นต้น ในตอนท้ายของส่วนหลังนี้คณะผู้จัดพิมพ์ได้เพิ่ม "ตำราของอาจารย์เปี่ยม" ซึ่งกล่าวถึง ธาตุทั้ง ๔, สมุฏฐานการเกิดโรค ๑๔ อย่าง, อาหารฝ่าสำแดง, น้ำกระสายยาต่าง ๆ เป็นต้นเข้ามาด้วย (หน้า ๔๖๓-๓๗๘) ตำราเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร พระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ |
ตำราสรรพคุณยา ฉบับของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท | น. ตำราการแพทย์แผนไทยฉบับหนึ่ง เรียบเรียงและรวบรวมโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท (พระองค์เจ้านวม) ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ เจ้ากรมหมอหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเนื้อหาว่าด้วยรสและสรรพคุณของตัวยาสมุนไพร เรียงตามลำดับเป็นข้อ ๆ รวม ๑๖๖ ข้อ ตำราเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ในงานปลงศพคุณหญิงทรัพย์ อรรถกวีวาจก (ทรัพย์รัศมภูติ) และได้มีการจัดพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง ในการจัดพิมพ์ครั้งแรก โดยหอพระสมุดวชิรญาณ มีคำนำซึ่งอธิบายที่มาที่ไปของตำราเล่มนี้ความตอนหนึ่งว่า "... หนังสือว่าด้วยตำราสรรพคุณยานี้ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงเรียบเรียงเป็นคำประฑันธ์ร้อยแก้ว เป็นตำราดี มีคุณประโยชน์ และรักษาโรคได้จริง ด้วยกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นอธิบดีแพทย์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระเกียรติคุณสมควรได้รับการยกย่องนับถือเป็นแพทยาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และเชี่ยวชาญในการแพทย์ไทย ..." |
ตำหระ | ดู จำหระ |
ตุ่ม | น. เม็ดที่ขึ้นตามร่างกาย เช่น ผิวหนัง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในปาก ในคอ |
เตโชธาตุ | ดู ธาตุเพลิง, ธาตุไฟ |
เตโชธาตุสมุฏฐาน | ดูใน ธาตุสมุฏฐาน |
ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น