-->

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

พจนานุกรม หมวดอักษร ซ

ซ่วงดู ส้วง
ซางน. โรคเด็กประเภทหนึ่ง มักเกิดในเด็กเล็ก ทำให้มีอาการตัวร้อน เชื่อมซึม ปากแห้ง อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ท้องเดิน มีเม็ดขึ้นในปาก ในคอ ลิ้นเป็นฝ้า เป็นต้น แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ซางเจ้าเรือน และซางจร ทั้งซางเจ้าเรือนและซางจรจะทำให้มีอาการแตกต่างกันตามวันเกิดของเด็ก, เขียนว่า ทราง ก็มี
ซางกระดูกน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกซางช้างอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันศุกร์ เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีเม็ดขึ้นที่โคนลิ้น เมื่อตั้งยอดได้ ๒ วัน ก็จะหลบเข้าไปในท้อง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเดิน มือเท้าเย็น หลังจากนั้นแม่ซางก็จะเลื่อนขึ้นมาที่ต้นลิ้น กลายเป็นยอดแข็งเหมือนตาปลา หากเป็นเช่นนี้ตำราว่าให้แกะออกแล้วป้ายยาก็จะหายได้ ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๒/๒๖] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักษณทรางกระดูกตั้งยอดขึ้นเปนดังนี้ * * * *ครั้นถึง ๒ วันหลบหายเข้าไปในทอ้ง จึ่งทำให้ลงท้องให้มือ ให้เท้าให้เยน แม่ทรางนั้นจึ่งกลับขึ้นมาขึ้นต้นลิ้นยอดหนึ่ง แฃงดังตาปลา ถ้าแพทยรู้แท้แล้วท่านให้แกะให้แทงออกเสียก่อน แล้วจึ่งเอายาบ้ายเถิดหาย ฯ ..." ดู ซางจร ประกอบ
ซางกระตังน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกหรือเกิดต่อจากซางสะกออันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันพุธ โรคนี้จะเกิดกับทารกที่มีอายุมากกว่า ๑ เดือน โดยจะเกิดต่อจากกเขม่า ซางจรชนิดนี้มีแม่ซาง ๓ เม็ด แต่ละเม็ดมีบริวาร ๑๐ เม็ด แม่ซางและบริวารจะทยอยขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการแตกต่างกัน เช่น เมื่อแม่ซางทั้ง ๓ เม็ดขึ้นพร้อมกันแล้วกระจายไปที่กระเพาะปัสสาวะ จะทำให้มีอาการปัสสาวะขัด ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๐๙] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักขณทรางกระตังนั้นมีแม่ ๓ ยอด มีบริวาร ๓๐ ยอด เมื่อกุมารอยู่ในเรือนเพลิงนั้นเขม่าหามีไม่ ครั้นได้เดือน ๑ ออกจากเรือนเพลิงแล้วเขม่าจึงขึ้น ครั้นสิ้นเขม่าแล้วแม่ทรางขึ้นรายกันขึ้น ขึ้นในนาภียอด ๑ บริวารขึ้นด้วย ๑๐ ยอด ครั้นกุมารได้เดือน ๑ กับ ๑๕ วัน บริวาร ๑๐ ยอด ซึ่งขึ้นอยู่ในนาภีนั้นก็รายกันขึ้นมาในลำไส้อ่อน ลำไส้แก่ จนถึงทรวงอก ทรางบริวาร ๑๐ ยอด ซึ่งขึ้นอยู่ในทรวงอกนั้นก็ถอยลงไปขึ้นในเภาะน้ำ เภาะข้าวบ้าง แลทรางบริวาร ๑๐ ยอดซึ่งขึ้นอยู่ในฅอนั้นก็รายกันออกไปขึ้นเพดานขึ้นริมฝีปากบ้าง แลขึ้นลิ้นกพุ้งแก้มนั้นบ้างหนา ๓ ชั้น ดุจดังญ่ายองไฟ ถ้าขึ้นพร้อมกันทั้ง ๓ แห่งดังกล่าวมานี้ ทรางที่ขึ้นในลำไส้นั้นก็ทำให้เปนบิด ทรางที่ขึ้นในเภาะเข้านั้นทำให้ขัดเบา ทรางที่ขึ้นในเภาะเข้านั้นก็ทำให้จุกเสียดมิให้หยากอาหารนอนไม่หลับ ทรางที่ขึ้นคอนั้นทำให้,อแห้งร้องไห้มิออก ทรางที่ขึ้นเพดานนั้นทำให้ปวดสีสะหายใจขัดดูดนมมิได้ ..." ดู ซางจร ประกอบ
ซางกระแนะดู ซางกระแหนะ
ซางกระแหนะน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกซางแดงอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันอังคาร ซางชนิดนี้มีแม่ซาง ๓ เม็ด มีบริวาร ๓๐ เม็ด แม่ซางทั้ง ๓ เม็ดนั้นจะขึ้นที่ปลายลิ้น ๑ เม็ด ต้นคาง ๑ เม็ด และทรวงอกหรือโคนลิ้น ๑ เม็ด โดยมีบริวารล้อมแม่ซางตำแหน่งละ ๑๐ เม็ด เด็กที่ป่วยเป็นซางชนิดนี้จะดูดนมไม่ได้ ลิ้นกระด้างคางแข็ง มือกำ เท้างอ ถ้าแม่ซางเลื่อนลงไปในท้อง จะทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดใส ร่างกายจะซูบผอม เบื่ออาหาร ปวดมวนท้องมาก เป็นต้น ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๒/๒๖] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักษณะทรางกระแนะนั้นตั้งยอดขึ้นเปนดังนี้ ~ ~ ~ ~ ให้แพทยพึงรู้ ฯ อันว่าลักษณทรางเหนบนั้นตั้งขึ้นเปนดังนี้ * * * * สันถานยอดนั้นเลกกลางยอดนั้นดำ ริมยอดนั้นแดง ครั้นหลบลงเข้าท้องจึ่งทำให้ตกมูกเลือด ทรางจำพวกนี้ร้ายนัก ..." ซางกระแนะ หรือ ซาบเหนบ ก็เรียก ดู ซางจร ประกอบ
ซางกรายน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกหรือต่อจากซางเพลิงอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันอาทิตย์ เด็กที่ป่วยจะมีเม็ดยอดที่เป็นแม่ซาง ๔ เม็ด ขึ้นที่หัวหน่าว ๒ เม็ด ท้อง ๒ เม็ด และมีเม็ดยอดที่เป็นบริวารอีก ๔๐ เม็ด เมื่อเริ่มมีอาการจะมีลักษณะเหมือนผด เมื่อเป็นมากเม็ดยอดที่เป็นแม่ซางจะมารวมกันที่ท้องทำให้มีอาการตัวร้อนอาเจียน กินอาหารไม่ได้ นอนสะดุ้ง ถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นต้น ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๐๑] ตอนหนึ่งว่า "... เมื่อสิ้นกำหนดทรางเพลิงเจ้าเรือนแล้ว ทรางกรายจึ่งผุดขึ้นมาจากกระดูกสันหลังจึ่งตั้งทรางอันว่าลักษณทรางกรายนั้นมีแม่ ๔ ยอด ขึ้นอยู่หัวเหน่า ๒ ยอด ขึ้นอยู่ในนาภี ๒ ยอด มีบริวาร ๔๐ ยอด ครั้นอายุได้ขวบ ๑ กับ ๖ เดือน จึ่งทรางบริวารนั้นก็กระจายออกมานอกเนื้อเปนดุจยอดผด แล้วจึ่งทำให้กุมารผู้นั้นบิดตัวนอนสดุ้งอยู่ประมาณ ๓ วัน แล้วก็จมลงไปขึ้นจับในลำไส้แก่ ครั้นได้ ๓ เดือน แม่ทรางที่ขึ้นอยู่ในหัวเหน่านั้น ก็เลื่อนขึ้นมาตั้งในนาภีอีกยอด ๑ เปน ๓ ยอดด้วยกันทั้งเก่า ครั้นเมื่ออายุได้ ๘ เดือน แม่ทรางที่ตั้งขึ้นอยู่ในหัวเหน่านั้น ก็เลื่อนขึ้นมาตั้งในนาภีอีกยอด ๑ เปน ๔ ยอดด้วยกัน ทั้งเก่านั้นในเมื่อแม่ทรางทั้ง ๔ ยอดขึ้นมาประชุมพร้อมกันในนาภีแล้วเมื่อใด ก็ทำให้ตัวร้อนให้ลงให้ราก ให้กระหายน้ำให้กินเข้า กินนมมิได้ ครั้นเมื่ออายุกุมารได้ขวบ ๑ กับ ๗ เดือน ๘ เดือน จึ่งบริวาร ๔๐ ยอดนั้น ก็แบ่งกันมาขึ้นประจำอยู่หัวเหน่า ๑๐ ยอด ขึ้นประจำอยู่นาภี ๑๐ ยอด ขึ้นประจำอยู่กะเภาะเข้า ๑๐ ยอด ขึ้นประจำอยู่ลิ้น ๑๐ ยอด เปน ๔๐ ยอดด้วยกันดังนี้ ..." ดู ซางจร ประกอบ
ซางกำเนิดดู ซางเจ้าเรือน
ซางขโมยดู ซางโจร
ซางข้าวเปลือก, ซางเข้าเปลือกน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกซางโคอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันพฤหัสบดี ซางชนิดนี้จะมีแม่ซาง ๕ เม็ดขึ้นที่กระหม่อม กลางหลัง นาภี และรักแร้ทั้งสองข้าง แม่ซางแต่ละเม็ดมีบริวาร ๑๐ เม็ด รวม ๕๐ เม็ด ผู้ป่วยจะมีอาการปากร้อนและท้องเสีย จากนั้นจะมีอาการมือเท้าเย็น เมื่อแม่ซางทยอยเลื่อนไปที่ท้องจนครบ ๕ เม็ด บริวารทั้ง ๕๐ ก็จะทยอยขึ้นทั้งตัว ทำให้เกิดผื่นคันเหมือนคายข้าวเปลือก ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน ท้องอืด มือกำ เท้างอ ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ดูดนมไม่ได้ ถ้าไม่หายใน ๓-๗ วัน อาการจะรุนแรงถึงตายได้ ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๒๒] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักขรทรางเข้าเปลือก ซึ่งเนทรางจรมาแซกทรางโค เจ้าเรือนสำรับกันนั้นต่อไป ให้แพทยทั้งหลายพึงรู้โดยสังเขปดังนี้ อันว่าลักขณกำเนิดทรางเข้าเปลือกนั้นมีแม่ ๕ ยอดมีบริวาร ๕๐ ยอด แม่ทรางขึ้นประจำอยู่กระหม่อมนั้นยอด ๑ แม่ทรางขึ้นประจำอยู่นาภีนั้นยอด ๑ แม่ทรางขึ้นประจำอยู่รักแร้ทั้ง ๒ ข้างละยอด มีบริวารขึ้นประจำอยู่แห่งละสิบ ๆ ยอด ทรางจำพวกนี้เกิดเพื่อกำเดาเมื่อจะบังเกิดนั้นให้ปากร้อนให้ลงท้องก่อน ทรางจำพวกนี้จึงมาเกิดขึ้นันให้ตีนให้มือเยนแต่เจบเปนดังนี้ครั้ง ๑ แม่ทรางที่อยู่ในกระหม่อมนั้นจึ่งเลื่อนลงมาตั้งในนาภีอีกยอด ๑ เปน ๒ ยอดด้วยกัน ให้กุมารนั้นเจบอีกครั้ง ๑ แม่ทรางที่อยู่กลางสันหลังยอด ๑ นั้นก็เลื่อนลงมาตั้งอยู่นาภีเปน ๓ ยอด จึงทำให้กุมารจบลงอีกครั้ง ๑ แม่ทรางที่อยู่รักแร้ข้างละยอดนั้นก็ลงมาตั้งอยู่นาภีเปน ๕ ยอดด้วยกันขึ้นเปนดังนี้ * * * * * เรียงกันลงมาไต้สดือถึงหัวเหน่า อันว่าทรางบริวาร ๕๐ ยอดนั้น ก็รายกันไปขึ้นทั้งตัว บางทีให้พรึงขึ้นดังคายเข้าเปลือกให้คันสน่อย ถ้ารู้มิถึงก็ว่าออกหัด บางทีผุดขึ้นดังปานดำปานแดงก็มี บางทีผุดขึ้นดังเอาหวายฟาด บางทีผุดขึ้นดังตีด้วยนิ้วมือ ดำ แดง เขียว ก็มี รากนักมักให้ลงท้องให้ท้องขึ้นให้ชักเท้ากำมือ ให้ลิ้นกระด้างคางแฃงให้ดูดนมมิได้ แลให้เปนไปใน ๓ วัน ๗ วัน วันที่ ๑ พ้นกว่านั้นเปนอาการท่านตัด ..." ดู ซางจร ประกอบ
ซางโคน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันพฤหัสบดี เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแม่ซาง ๔ เม็ด มีบริวาร ๕๐ เม็ด เกิดกับทารกตั้งแต่อยู่ในเรือนไฟ ทารกจะมีไข้ มีผื่นเหมือนผดขึ้นทั้งตัว แม่ซางและบริวารจะกระจายขึ้นไปตามอวัยวะต่าง ๆ ตามลำดับช่วงอายุ ทำให้มีอาการแตกต่างกันไป เช่น เมื่อขึ้นไปที่ปากและลิ้นจะทำให้ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อย ไอ ท้องเสีย ฯลฯ ซางชนิดนี้อาจรักษาให้หายได้ใน ๑๕ วัน แต่ถ้ารักษาไม่หายอาจมีอาการรุนแรงถึงตายได้ ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๒๐] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักขณทรางโคนั้นมีแม่ ๔ ยอด บริวาร ๕๐ ยอด ในเมื่อตั้งอยู่ในครรภมารดานั้น ข้างขึ้นตั้งอยู่เหนือสดือข้างแรมตั้งอยู่ไต้สดือ เมื่อคลอดจะมีเขม่าครั้นหล่นลงไปทรางจึ่งเกิดตัวกุมารจะพรึงขึ้นดังยอดผดจะให้บิดตัวลงท้องเมื่อได้ ๓ เดือน แม่ทราง ๔ ยอดนั้นก็รายกันไปขึ้นที่ปลายลิ้นยอด ๑ ขึ้นอยู่ต้นลิ้นยอด ๑ ขึ้นอยู่สองข้างลิ้นข้างละยอด จึ่งทำให้ลิ้น ให้ปาก เปื่อยแล้วให้ไอให้ราก เปนกำลัง เมื่อได้หกเดือนทรางยอดเอกซึ่งตั้งอยู่ปลายลิ้นนั้น ก็เลื่อนลงไปตั้งอยู่ในนาภีชายตับทรางบริวารก็ไปขึ้นในกเภาะเข้า ๑๐ ยอด ยัง ๔๐ ยอดนั้นก็ไปตั้งอยู่ปลายลิ้นแลเพดาน ทรางยอดเอกซึ่งลงไปตั้งอยู่ในนาภีชายตับนั้น ก็ทำให้ลง ให้ราก ให้กระหายน้ำ ถ้าแพทยวางถูกไปได้ถึง ๗ เดือน ทรางยอดเอกที่ต้นลิ้นนั้น ก็เลื่อ่นลงไปตั้งอยู่ริมสดือข้างขวา ทรางบริวารก็ไปขึ้นในเภาะน้ำก็ทำให้ลงให้ราก ให้กระหายน้ำ เมื่อได้ ๑๑ เดือน ทรางเอกที่ขึ้นสองข้างลิ้นนั้น ก็เลื่อนลงไปตั้งในนาภีซ้าย นาภีขวา ยอด ๑ ทรางบริวารซึ่งเหลืออยู่ ๓๐ ยอดนั้นก็ไปขึ้นใส้อ่อน ๑๐ ยอด ใส้แก่ ๑๐ ยอด ขึ้นหัวเหน่า ๑๐ ยอด ก็กระทำให้กุมารป่วยเจบครั้ง ๑ เมื่อได้ขวบ ๑ กับ ๖ เดือนจะให้ตกมูกตกเลือด ให้เปนต่าง ๆ ...", ซางวัว ก็เรียกดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางจร"น. ๑. ซางที่เกิดแทรกขึ้นระหว่างซางเจ้าเรือน ทำให้อาการรุนแรงขึ้น, ซางแทรก ก็เรียก ๒. ซางที่เกิดต่อเนื่องจากซางเจ้าเรือน ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ซางกราย เป็นซางจรที่อาจเกิดต่อเนื่องจากซางเพลง ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๐๑] ตอนหนึ่งว่า ""... เมื่อสิ้นกำหนด ทรางเพลิงเจ้าเรือนแล้ว ทรางกรายจึ่งผุดขึ้นมาจากกระดูกสันหลังจึ่งตั้งทราง ..."""
ซางเจ้าเรือนน. ซางที่เกิดกับทารกตั้งแต่อายุครรภ์ได้ ๓ เดือน จนอายุได้ ๕ ขวบ ๖ เดือน, ซางกำเนิด ก็เรียก
ซางโจรน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันเสาร์ มีแม่ซาง ๘ ยอด มักเกิดกับเด็กตั้งแต่อายุ ๓ วัน ไปจนถึง ๑ ขวบกับ ๖ เดือน เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการแสดงออกที่ปากลิ้น และเพดานปากเป็นเม็ดยอดสีเหลืองขอบแดง แล้วเปื่อยลามไปทั้งตัว ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเดินไม่หยุด อุจจาระมีสีและกลิ่นเหมือนน้ำไข่เน่า น้ำคาวปลา หรือน้ำล้างเนื้อ อุจจาระอาจเป็นมูกหรือเป็นเลือดด้วย ซึ่งอาจรักษาให้หายได้ใน ๑๗ วัน หากรักษาไม่หาย อาการอาจรุนแรงขึ้นถึงตายได้ ดังคัมภีร์ประถจินดา [๑/๓๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักขณะทรางโจรนั้นข้างขึ้นตั้งเนหือสดือข้างแรมตั้งใต้สดือ ทรางโจรนี้มีแม่ ๘ ยอด เมื่อออกจากครรภมารดาได้ ๓ วัน แม่ทรางขึ้นในกลางสันหลังแห่งกุมารนั้น ๔ ยอด ไปขึ้นในกระหม่อมนั้น ๔ ยอด แลเมื่อกุมารได้ ๓ เดือน ทรางนั้นก็สำแดงออกมาที่ปากที่ลิ้น นั้นก็ดีที่เพดานก็ดี ตั้งขึ้นเปนเมดเข้าสารหักศีเหลืองตีนขอบนั้นแดง แลสำแดงออกนอกตัวลายดังปลากทิง แลทรางจำพวกนี้มีแม่มีตัวดังตัวไร ปากนั้นดำซ่านอยู่ทุกขุมขนทั้งตัวกุมารนั้น จำพวกหนึ่งอยู่ในลำไส้ ตัวยาวปากดำ ประมาณเท่าเส้นดาย จำพวกหนึ่งเกิดขึ้นเปนอุปปาติกใหญ่เท่าปลายไม้มวน คนสมมติเปนไส้เดือน เกิดแก่กุมารตั้งแต่เดือน ๑ ขึ้นไป เมื่อกุมารได้ ๖ เดือนทรางนั้นจึงสำแดงออกมาให้เปื่อยเปนขุม ๆ ไปทั่วทั้งตัว แล้วจึงกระทำโทษให้ลงท้องยามิหยุดเลย แล้วจึงแม่ทรางที่กระหม่อม ๔ ยอดนั้น ก็เลื่อนลงมายอด ๑ มาขึ้นกลางสันหลัง ประจบเข้ากันเปน ๕ ยอดแล้วที่ตัวกุมารเปื่อยนั้นก็หายลงไปเอง เมื่อกุมารได้ ๙ เดือน แม่ทรางที่กระหม่อมนั้นก็เลื่อนลงมาอีกยอด ๑ มาขึ้นในกลางสันหลังบรรจบเข้ากันกับเก่าเปน ๖ ยอดด้วยกัน เมื่อกุมารได้ขวบ ๑ แม่ทรางที่กระหม่อมนั้นก็เลื่อนลงมาอีกยอด ๑ มาขึ้นในกลางสันหลัง บรรจบเข้ากันเปน ๗ ยอด เมื่อกุมารอายุได้ขวบ ๑ กับ ๖ เดือน แม่ทรางที่กระหม่อมนั้น ก็เลื่อนลงมาอิกยอด ๑ มาขึ้นในกลางสันหลังบรรจบกันเปน ๘ ยอดพร้อมกันแล้ว ก็จมเข้าไปขึ้นรอบสดือทั้ง ๘ ยอดนั้น ก็กระทำโทษให้ลงเปนน้ำไข่เน่าเปนดังน้ำคาวปลาเปนดังน้ำล้างเนื้อ ก็ดีเปนมูกเปนเลือดก็ดี ถ้าแพทยวางยาถูกแล้วให้พิจารณาดูกำเนิดทรางโจรซึ่งกระทำโทษนั้นต่าง ๆ ...", ซางขโมยก็เรียก ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางช้างน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันศุกร์ ซางชนิดนี้มีแม่ซาง ๘-๙ ยอด มีบริวาร ๘๐ ยอด เกิดกับเด็กตั้งแต่เมื่อออกจากเรือนไฟได้ ๓ เดือน แม่ซางและบริวารจะขึ้นกระจายไปตามแขน ขา ชายโครง กลางหลัง ทำให้มีอาการไอ คอแห้ง เจ็บคอ อาเจียนเป็นลมเปล่า คอเปื่อย คันทั้งตัว มีแผลพุพอง หากขึ้นที่กระเพาะอาหารและลำไส้จะทำให้กินอาหารไม่ได้ เบื่ออาหาร ท้องผูกเป็นพรรดึก โรคนี้อาจรักษาให้หายได้ใน ๑๖ วัน แต่ถ้ารักษาไม่หาย อาจมีอาการรุนแรงถึงตายได้ ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๒๖๐] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักษณทรางช้างนั้น ... ครั้นออกจากเรือนไฟได้ ๓ เดือนจึ่งมี แม่ทรางขึ้นตั้งอยู่ในนาภีนั้น ๓ ยอดขึ้นในเพานนั้น ๒ ยอด ๓ ยอดบ้าง ขึ้นในอกนั้น ๓ ยอด เมื่อได้ ๖ เดือน จึ่งแม่ทรางอยู่ในเพดาน ๒ ยอด ๓ ยอดนั้นก็เลื่อนลงมาขึ้นฅอ จึ่งมีบริวาร ๘๐ ยอด รายกันมาข้นลำขาทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นหัวเหน่าทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นลำแฃนทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นข้างโครงแลกลางสัน ..." ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางแดงน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันอังคาร เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีเม็ดยอดที่เป็นแม่ซาง ๖ เม็ด ขึ้นที่กระหม่อม ๓ เม็ด กลางสันหลัง ๓ เม็ด และมีเม็ดยอดที่เป็นบริวาร ๗๒ เม็ด แม่ซางยอดเอกจะมีสีแดง หากเกิดที่สันหลังจะมีอาการแสดงออกที่คอ คาง ขาหนีบ รักแร้ และทวารหนัก ทำให้เด็กที่ป่วยมีอาการท้องเสีย อาเจียน กระหายน้ำ เชื่อมมึน ไอ ผอมเหลือง กินอาหารไม่ได้ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ซึ่งอาจรักษาห้หายได้ใน ๑๓ วัน เมื่อรักษาหายแล้ว อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก แต่ถ้ารักษาไม่หายจะมีอาการรุนแรงขึ้น ซางชนิดนี้โบราณจัดเป็นซางที่มีพิษมาก แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ซางแดงตัวผู้ และซางแดงตัวเมีย และว่าซางแดงตัวผู้มีพิษร้ายแรงมาก รักษายาก ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๒๔๘] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณทรางแดงนี้มีแม่นั้น ๖ ยอด อยู่ในกระหม่อม ๓ ยอด อยู่กลางสันหลัง ๓ ยอด มีบริวารอยู่ ๗๒ ยอด เมื่ออยู่ในเรือนไฟหาเขม่ามิได้เหตุว่าแม่ทรางนั้นเลื่อนขึ้นมาเกิดเพดาน ข้างบนนั้น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ยอดก็ดี จึ่งไม่มีเขม่าในเรือนไฟ ครั้นออกไฟแล้วจึ่งเขม่าตานทรางนั้นมีมา ครั้นถ้วน ๓ เดือนแม่ทรางจึ่งลงมาจากกระหม่อยอด ๑ ขึ้นสันหลังยอด ๑ เปน ๒ ยอดด้วยกัน จึ่งสำแดงอกมาที่ฅอ คาง ฃาหนีบ รักแร้ ฃ้างนอกแลทวารหนักก็ดี ยอดนั้นแดงคือทรางแดงสำแดงออกมาให้ลำบากแก่กุมารแก่กุมารีทั้งปวงนั้น จึ่งทำให้ลงให้ราก ให้กระหายน้ำแลให้เชื่อม ให้มึน พิศม์ ให้ไอแลให้ฅอแห้ง ให้ผอมเหลืองให้ตกมูกตกเลือดกินเข้ากินนมมิได้ ถ้าแพทยเหนดังนี้แล้วให้พิจารณาดูให้รู้จักว่าตัวผู้ตัวเมีย แลลักษณเปนแลตายดีแลร้ายทั้งปวง ..." ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางแดงตัวผู้ดูใน ซางแดง
ซางแดงตัวเมียดูใน ซางแดง
ซางแทรกดู ซางจร
ซางนางริ้นน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกหรือเกิดต่อจากซางโจร อันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันเสาร์ ซางชนิดนี้มีแม่ซาง ๔ เม็ด มีบริวาร ๕๖ เม็ด เกิดได้กับเด็กตั้งแต่ออกจากเรือนไฟ แม่ซางแต่ละเม็ดและบริวารจะทยอยรายขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตามช่วงอายุ ทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไป เช่น เมื่อผู้ป่วยอายุได้ ๓ เดือน แม่ซางและบริวารจะไปขึ้นที่คอ ทำให้คอแห้ง ลิ้นขาว ดูดนมไม่ได้ ซางชนิดนี้อาจเกิดแทรกซางอื่นได้ทุกซาง ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๗๖] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักขณทรางนางริ้นนั้นมีแม่ยอด ๔ ยอด มีบริวารนั้น ๕๖ ยอด ตั้งแต่กุมารออกจากเรือนเพลิง บางทีขึ้นทรากทรางโจรบางทีต่อสิ้นทรางโจร จึ่งตั้งขึ้นอยู่สดือนั้นยอด ๑ บริวารมาขึ้นด้วย ๘ ยอดขึ้นอยู่ทรวงอกนั้นยอด ๑ บริวารมาขึ้นด้วย ๑๒ ยอด ขึ้นอยู่ลิ่นนั้นยอด ๑ บริวารมาขึ้นด้วย ๑๖ ยอด รายกันลงมาตามลำคอถึงทรวงอก ขึ้นอยู่ทรวงอกนั้นยอด ๑ บริวารมาขึ้นด้วย ๒๐ ยอด รายกันไปขึ้นตามหัวเหน่าแลไส้อ่อน ไส้แก่ เมื่อกุมาได้ ๓ เดือน แม่ทรางอันอยู่ในลำคอนั้นกระทำให้ฅอแห้ง ให้ลิ้นนั้นขาวดูดนมมิได้ เมื่อกุมารได้ ๖ เดือน บริวารทรางขึ้นลิ้นไก่ ๓ ยอดนั้น กระทำให้ไอเปนกำลัง บริวารทรางทั้งนั้นก็รายกันลงไปบันจบเอาแม่ทรางที่อยู่ทรวงอกนั้น แล้วจึ่งกระทำให้กระหายน้ำ ให้คอนั้นแห้ง ให้เชื่อมหลับตามไป บริวารทรางซึ่งอยู่ในทรวงอกนั้น ก็รายกันมาถึงชายโครง ชายตับ บันจบกันกับแม่ทรางที่อยู่ในสดือนั้น กระทำให้ตกมูก ตกเลือดสด ๆ ออกมา บางทีให้เปนเสมหะ เปนโลหิต เน่าออกมาบ้าง แล้วก็ให้ตับหย่อน ลงมาย้อยชายโครง ให้จับเปนเวลา ให้ตาแดงเปนสายโลหิต ถ้าวางยาผิดตายถ้าวางยาถูกเข้าค่อยงดต่อไป เมื่ออายุกุมารได้ขวบ ๑ กับ ๖ เดือน ทรางที่ในเภาะเยี่ยวนั้นก็กระทำให้ขัดเบา บางทีเบาตกออกมาดังน้ำเข้า ดังดินสอพองก็มี ดังน้ำหนองก็มี ให้เจบปวดดิ้นเสือกไป มาให้เบานั้นหยอด ๆ ไป บางทีให้ฟกขึ้นที่ปลายองคชาต บางทีให้ฟกขึ้นที่หัวเหน่า ให้เป็นหนอง แลหนองนั้นก็กลายเปนปรวดเข้าคือลูกนิ่วบ้าง ..." ดู ซางจร ประกอบ
ซางน้ำน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันจันทร์ เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีเม็ดยอดสีแดงขนาดใหญ่ที่เป็นแม่ซาง ๑๙ เม็ด ขึ้นตามแขน หน้าแข้ง กลางหลัง และแก้ม ไม่มีเม็ดยอดที่เป็นบริวาร โรคนี้อาจเกิดกับเด็กตั้งแต่ระยะที่เป็นทารกในครรภ์จนถึงหลังคลอด ซึ่งอาจรักษาให้หายได้ใน ๑๒ วัน แต่ถ้ารักษาไม่หาย แม่ซางจะทยอยขึ้นกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ เมื่อเด็กมีอายุ ๒ ขวบ ๖ เดือน มักมีอาการหนักขึ้น เม้ดยอดจะแตกเป็นน้ำเหลือง เป็นแผลเปื่อยทั่วตัว นานเข้าจะทำให้มีไข้ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๐๔] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักขณทรางน้ำนั้นมีแม่ ๑๙ ยอด ในเมื่อครรภมารดาตั้งขึ้นได้ ๓ เดือนนั้นมักให้มารดาปวดศีศะแลเจบนมแล ให้อยากของอันหวาน แลให้เมื่อยแฃนทั้ง ๒ ข้าง ให้หูหนักตาฟางมักให้เปนลมมึนตึง แลให้รากให้กระหายน้ำเปนกำลังไปจนถึงกำหนดคลอด อันว่าแม่ทรางนั้นทั้ง ๑๙ ยอดนั้นมีสัณฐานยอดแต่ละยอดโตเท่าใบพุทรา มีสีอันแดงดังผลผักปลังห่าม ขึ้นที่ต้นแค่งต้นขา แลกลางหลังขึ้นน่าแข้งแลแก้มทั้ง ๒ ข้าง รายกันขึ้นละยอดจนอายุได้ ๒ ขวบ กับ ๖ เดือน ย่อมแตกเปนน้ำเหลืองเปื่อยไปรอบตัว ครั้นว่าแห้งลงก็หลบเข้าไปทำพายใน จึ่งกระทำให้หัวร้อนตัวร้อนแล้วก็ทำให้เจบท้อง ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษาให้แต่งยากระทุ้งให้กิน ให้ออกเสียให้สิ้นเชิงแล้ว จึ่งวางยาทุเลาให้เกินไป ๔ ๕ เวลา จึ่งจะหายขาด อันลักขณะทรางน้ำนี้หาบริวารมิได้ ท่านให้เกรงแต่ทรางจร กับหละ ละออง ถ้าผู้มาแขกนั้นร้ายอยู่แล้ว เจ้าเรือนก็พลอยฉิบหายด้วย ทรางจรนั้น ..." ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางฝ้ายน. ซางจรชนิดหนึ่ง เกิดแทรกซางน้ำอันเป็นซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันจันทร์ ไม่มีแม่ซางเกิดขึ้นตามผิวหนัง แต่ขึ้นที่เพดานปากกระพุ้งแก้ม ไรฟัน และลิ้น เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการลิ้นเป็นฝ้าขาว มีไข้สูง ปากร้อนปากแห้งไม่มีน้ำลาย หุบปากไม่ลง กินอาหารไม่ได้ อาเจียน ท้องเดิน อุจจาระเหม็นเหมือนไข่เน่า เป็นต้น ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๓๓๔] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักขณะทรางฝ้ายนั้นหาเมดยอดมิได้ จำเภาะขึ้นเพดาน กะพุ้งแก้ม ไรฟัน แลขึ้นิ้นฃาวดาษไปดังยวงฝ้าย มีไยดุจสีสำลีดีดแล้วจึ่งกระทำพิศม์ให้ร้อนไปทั่วทั้งตัว ให้ปากนั้นร้อนให้ปากแห้งหาน้ำลายมิได้ แล้วให้หุบปากมิลง อ้าปากร้องอยู่ กินเข้า นม มิได้ มักให้รากเปนกำลัง แล้วกระทำให้ลงท้องเหมนดังไข่เหน้า ถ้าแพทยเหนดังนี้แล้วให้พิจารณาดูให้แม่นแท้ คือทรางฝ้ายกระทำโทษดุจกล่าวมาดังนี้ ..." ดู ซางจร ประกอบ
ซางเพลิง, ซางไฟน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันอาทิตย์ เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเริ่มมีเม็ดยอดที่เป็นแม่ซาง ๔ เม็ด เกิดที่บริเวณฝ่าเท้าเมื่ออายุได้ ๗ วัน และมีเม็ดยอดที่เป็นบริวารอีก ๔๐ เม็ด ขึ้นที่หน้าแข้งข้างละ ๒๐ เม็ด ซึ่งอาจรักษาให้หายได้ใน ๑๑ วัน แต่ถ้ารักษาไม่หายและมีอาการคงอยู่ แม่ซางและบริวารจะกระจายออกไปทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เมื่อแม่ซางและบริวารกระจายขึ้นไปจากกลางหน้าแข้งถึงหัวเข่าเป็นเม็ดสีแดงลามออกไปเหมือนไฟไหม้ ทำให้มีอาการปวด เมื่อมีอาการรุนแรงขึ้นอาจถึงตยได้ ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๒๙๘] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักษณทรางเพลิงนั้นมีแม่ ๔ ยอด มีบริวาร ๔๐ ยอด เมื่อคลอดจากครรภมารดานั้น เขม่าขึ้นแต่ในเรือนเพลิง ครั้นได้ ๗ วันแล้วก็หายไป ด้วยแม่ทรางเพลิงจะมาบังเกิดในฝ่าเท้าแห่งกุมารผู้นั้น ถ้าเปนชายแม่ทรางเพลิงขึ้นฝ่าเท้าขวา ๓ ยอด ซ้ายยอด ๑ ถ้าเปนหญิงแม่ทรางเพลิงขึ้นฝ่าเท้าซ้าย ๓ ยอด ขวายอด ๑ และบริวาร ๔๐ ยอดนั้น ก็มาขึ้นน่าแค่งอยู่ฃ้างละ ๒๐ ยอด ครั้นออกจากเรือนเพลิงได้ ๓ เดือนแล้วนั้น แม่ทรางที่ฝ่าเท้าก็เลื่อนขึ้นตั้งอยู่นาภียอด ๑ เมื่อได้ ๔ เดือนนั้น จึ่งกระทำให้หลังเท้า นั้นฟกขึ้นสน่อย ให้เมื่อยข้อเท้ากินเข้าให้ระคายฅอให้นอนนานตื่น ครั้นได้ ๖ เดือน แม่ทรางจึ่งขึ้นอีกยอด ๑ เปน ๒ ยอดเข้ากัน จึ่งเปนเมดพรึงขึ้นมาข้างนอกเนื้อ สีดุจผลลูกหว้าห่าม อยู่ไปได้ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ วัน บางแล้วก็ดาษจมหายไป ครั้นได้ ๘ เดือน แม่ทรางซึ่งมาในนาภีอีกยอด ๑ บันจบกันเข้าเปน ๓ ยอด บริวารขึ้นอยู่ที่ข้อเข่าตลอดถึงข้อเท้า ครั้นได้ ๙ เดือน แม่ทรางก็เลื่อนขึ้นมานาภีอีกยอด ๑ เปน ๔ ยอดด้วยกัน จึ่งบริวาร ๔๐ ยอดนั้น ก็กระจายกันออกไปขึ้นกลางแค่ง กลางขา แลหัวเข่าบ้าง จึ่งตั้งยอดแดงดังผลมะไฟแล้วก็ดำด้านลงขอบแดงลามออกไปดุจเพลิงไหม้ แลหนังนั้นก็พองเลื่อนเข้าหากัน ครั้นว่าสุกออกพร้อมกันแล้วก็กระทำให้ปวดแต่เท้าตลอดถึงลำแค่ง ขา ตะโภก บั้นเอวก็ดี ถ้าแลแพทย์เหนดังนี้แล้วอย่าให้รักษาเลย ...", ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางวัวดู ซางโค
ซางสะกอน. ซางเจ้าเรือนประจำเด็กเกิดวันพุธ โรคนี้เกิดกับทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด ทารกจะมีเม็ดยอดที่เป็นแม่ซางขึ้นบริเวณท้องส่วนบน ๔ เม็ด มีบริวาร ๔๐ เม็ด (บางตำราว่า ๔๒ เม็ด) ซึ่งอาจรักษาให้หายได้ใน ๑๔ วัน แต่ถ้ารักษาไม่หายและมีอาการคงอยู่ถึง ๓ เดือน เม็ดยอดจะกระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ถ้ากระจายไปที่ลำไส้จะทำให้ท้องผูก ปัสสาวะขัด เมื่อเป็นอยู่นานและรักษาไม่ถูกต้องอาจทำให้ถึงตายได้ ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๒๕๕] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าลักษณทรางสกอนี้ มีแม่ ๔ ยอดขึ้นประจำในนาภีทั้ง ๔ ยอด เมื่ออยู่ในเรือนไฟนั้น ๓ วัน เขม่าจึ่งขึ้นมีบริวาร ๔๒ ยอด ขึ้นกำกับแม่ทั้ง ๔ ยอดนั้น จึ่งบริวารข้างละ ๑๐ ยอดนั้นลงมาประจำอยู่ ทวารหนักนั้น ๔ ยอด ประจำอยู่ม้ามนั้น ๕ ยอด อยู่กระหม่อมนั้นยอด ๑ ครั้นออกจากเรือนไฟแล้วจึ่งเปนเขม่าตาน เขม่าทรางเมื่อได้ ๓ เดือน จึ่งบริวารทั้งนั้นกระจายออกทั่วทั้งตัว แลลำไส้ แลทรางซึ่งประจำทวารหนัก ๔ ยอดนั้นมักให้เปนพรรดึก แลให้ขัดอุจาร ขัดปสาว แลทรางซึ่งประจำม้า ๕ ยอดนั้นก็กระจายออกยอดอกแล้วก็สำแดงออกมาที่ฅอ ที่ลิ้น ที่ปาก ขึ้นอยู่ ๓ เดือน ถ้าแพทยเหนดังนี้แล้วให้พิจารณาดูให้รู้จักว่า กำเนิดทรางสกอวางยา จึ่งจะชอบโรค ถ้าแลมิรู้จักกำเนิด ทรางสกอวางยามิต้องด้วยโรค ถ้าแลวางยาผิดเข้าไปเมื่อใด กุมารผู้นั้นก็จะแตกตายแต่ใน ๒ เดือนเปนอันเที่ยง ..." ดู ซางเจ้าเรือน ประกอบ
ซางเหนบดู ซางกระแหนะ
ไซ้ท้องก. ปวดมวนท้อง

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น