-->

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 1)

ขบไหล่น. อาการปวดข้อบริเวณส่วนของบ่าตอนที่ติดกับต้นแขน
ขยำก. กำหรือบีบย้ำ ๆ แล้วคลายมือสลับกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
ขวัญน. พลังชีวิตอย่างหนึ่ง เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคน พืชบางชนิด เช่น ข้าว หรือสัตว์เลี้ยงบางชนิด เช่น ควาย ขวัญจะออกจากร่างกายเมื่อตาย แต่ในคนทั่วไป ขวัญอาจออกจากร่างได้เมื่อตกใจอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เจ็บป่วย ต้องทำพิธีเรียกกลับมา
ขวัญกินเถื่อนน. ขวัญที่ออกไปจากร่างกาย ทำให้มีอาการสะดุ้งผวา ตกใจง่าย หรือเจ็บป่วย เป็นต้น ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๑๗๑] ตอนหนึ่งว่า "... อันลักขณะโลหิตรดูอันบังเกิดมาแต่ดี แต่ตับนั้น ถ้าสัตรีผู้ใดไข้ลง มักให้เชื่อมมึน เมามัว ซบเซามิได้รู้ว่ารุ่งค่ำคืนวัน แล้วให้นอนสดุ้ง หวาดไหวเจรจาด้วยผี สมมติวา ขวัญกินเถื่อน โทษทั้งนี้คือโลหิตกระทำเอง ..."
ขัดไหล่น. อาการรู้สึกเจ็บแปลบคล้ายมีอะไรมาเสียดแทงบริเวณส่วนของบ่าตอนที่ติดกับต้นแขน
ขันธ์น. ตัว หมู่ กอง พวก หมวด ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕, ขันโธ ก็เรียก
ขันธ์ ๕น. กองห้า กองแห่งรูปธรรม ๑ หมวด กับนามธรรม ๔ หมวด รวมเป็น ๕ หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวมเป็นชีวิต ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์, เบญจขันธ์ ก็เรียก
ขันโธดู ขันธ์
ขากรรไกรสลักเพชรดูใน สลักเพชร, สลักเพ็ด
ขื่อน. กระดูกเชิงกรานที่ขวางอยู่ด้านหน้า
เขม่า[ขะเหม่า] น. โรคเด็กชนิดหนึ่ง เกิดกับทารกที่อยู่ในเรือนไฟ (โดยทั่วไปอายุไม่เกิน ๑ เดือน) ผู้ป่วยจะมีฝ้าสีเทาแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เกิดได้ตั้งแต่หน้าอกถึงปลายลิ้น เมื่อลุกลามเข้าไปภายใน ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนอย่างแรง ท้องเสียอย่างแรงดังคัมภัร์ประถมจินดา [๑๕/๑๐๕] ตอนหนึ่งว่า "... เมื่อกุมารอยู่ในเรือนไฟนั้น ให้เป็นเขม่า ครั้นหล่นลงแล้วก็เข้าจับหัวใจแลทรวงอก จะทำให้สิปากแดงดุจดังสีชาด ไปทำน้ำรัก อันเปียก แลชาดนั้นก็ดำเป็นสีลูกหว้า แลซางอันหล่นลงมาเข้าท้องนั้นก็เข้าจับเอาหัวตับ ครั้นออกจากเรือนไฟได้ ๒ วัน ๓ วันก็ดี ได้เดือนหนึ่ง สองเดือนก็ดี เขม่านั้นจึงหล่น ในเมื่อสิ้นเขม่าแล้วซางจึงบังเกิดขึ้น ..."
เขฬะ, เขโฬน. น้ำลาย เป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๑๒ สิ่งของธาตุน้ำ
เข้ากระโจม"๑. ก. เข้าไปอบควันยาในกระโจม มักใช้กับหญิงหลังคลอด ๒. ก. เข้าไปนอนอยู่ในกระโจมหรือนอนคลุมโปง อบให้เหงื่อออก เพื่อลดไข้ ๓. น. วิธีการหนึ่งในการดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอด ด้วยการนำหม้อต้มยาสมุนไพรเข้าไปในกระโจม แล้วใช้ไอน้ำจากยาสมุนไพรอบตัวและรมใบหน้า โบราณเชื่อว่าช่วยบำรุงผิว ป้องกันการเกิดฝ้า แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ช่วยให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น"
เข้าขื่อน. วิธีการนวดอย่างหนึ่ง ใช้กับผู้หญิงหลังคลอด เพื่อให้กระดูกเชิงกรานที่เคลื่อนออกจากกัน กลับเข้าที่ อาจทำได้ ๒ แบบ คือ แบบที่ให้ผู้ถูกนวดนอนตะแคง ส่วนผู้นวดจะยืนอยู่ด้านหลัง แล้วใช้ส้นเท้าเหยียบกระแทกเป็นจังหวะตรงข้อต่อสะโพก และแบบที่ให้ผู้ถูกนวดนอนหงายแยกขา ผู้นวดนั่งระหว่างขา มือจับขาทั้ง ๒ ข้างของผู้ที่ถูกนวด แล้วใช้อุ้งเท้าข้างที่ถนัดถีบบริเวณช่องคลอด, เหยียบขื่อ ก็เรียก ดู ขื่อ ประกอบ
เข้าตะเกียบน. วิธีการนวดอย่างหนึ่ง ใช้กับผู้หญิงหลังคลอด โดยให้ผู้ถูกนวดนอนตะแคง ขา ๒ ข้างซ้อนทับกัน ส่วนผู้นวดจะยืนคร่อมโดยหันหน้าไปทางศีรษะของผู้ถูกนวด ใช้ขาทั้ง ๒ ข้างหนีบบริเวณต้นขาและสะโพกของผู้ถูกนวด แล้วใช้ส้นมือซ้อนกัน กดขย่มบริเวณข้อต่อสะโพกเป็นจังหวะถี่ ๆ โบราณว่าจะช่วยให้ข้อต่อสะโพกที่เคลื่อนออกจากเบ้าหลังคลอดกลับเข้าสูที่เดิมได้, นวดเข้าตะเกียบ ก็เรียก ดู ตะเกียบ ประกอบ
เขี่ยก. ใช้นิ้วมือกด ดันเข้าและดันออกบริเวณส่วนของร่างกาย ได้แก่ ร่องไหปลาร้า สะบัก ข้อพับแขน/ขา ใต้ศอก หน้าแข้ง และข้อเท้า เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยืดออกเป็นปรกติ
เขียวมหาพรหมน. ยาแผนไทยขนาดหนึ่ง ใช้แก้โลหิตพิการอันทำให้ตัวร้อนจัด มีตัวยา วิธีปรุง วิธีใช้ และสรรพคุณดังคัมภีร์ธาตุวิภังค์ [๑/๑๓๔] ตอนหนึ่งว่า "... ยาชื่อเขียวมหาพรหม สำหรับแก้โลหิตพิการ ทำพิศม์ให้ร้อนทั่วกายดังเปลวไฟให้ทุรนทุรายหาสะติมิได้ก็ดี ยานี้แก้ได้สิ้นทุกอัน ท่านให้เอาใบมูลหนอน ๑ ใบสมี ๑ ใบชิงช้าชาลี ๑ ใบมูลแหลก ๑ ใบผักเคด ๑ ใบแคแดง ๑ ใบทองหลางใบมน ๑ ใบมะเฟือง ๑ ใบภุมเรียงทั้ง ๒ ใบนมพิจิตร ๑ ใบแทงทวย ๑ ใบพริกไทย ๑ ใบน้ำเต้าขม ๑ ใบปีบ ๑ ใบมะระ ๑ ใบหญ้านาง ๑ ใบเท้ายายม่อม ๑ ใบพุงดอ ๑ ใบน้ำดับไฟ ๑ ใบระงับ ๑ ใบตำลึงตัวผู้ ๑ ใบพรมมิ ๑ ใบผักเข้า ๑ ใบหมากผู้ ๑ ใบหมากเมีย ๑ ใบภิมเสน ๑ ใบสันพร้าหอม ๑ ใบสะเดา ๑ ใบถั่วแระ ๑ ใบบระเพชร ๑ เถาวัลด้วน ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ จันทน์ขาว ๑ เอาเสมอภาคบดปั้นแท่งไว้น้ำกระสายยักใช้ควรแก่โรค ทั้งกิน ทั้งพ่น แก้โลหิตกำเริบแล ..."
ไข้"๑. น. ความเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิต เช่น ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้หวัด นอกจากนี้ ในทางการแพทย์แผนไทยยังมีไข้ตัวเย็นอันเกิดจากธาตุไฟพิการ ๒. ก. อาการครั่นเนื้อครั่นตัว สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดเมื่อย, โดยทั่วไปหมายถึงอาการที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นผิดจากระดับปรกติเนื่องจากความเจ็บป่วย"
ไข้กระดานหิน, ไข้กระดารหินน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดขึ้นทั่วตัว เมื่อแรกเกิดเม็ดนี้จะเป็นสีแดง จากนั้นเป็นสีดำติดกับเนื้อ ทำให้คัน สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะมาก ตาแดง มือเท้าเย็น เจ็บในเนื้อในกระดูก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๖-๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้กระดานหิน ให้จับสบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะเป็นกำลัง ให้จักษุแดงเปนแสงโลหิต ให้เท้าเย็นมือเย็นให้เจ็บเนื้อในกระดูก ทำพิศม์ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สะอึกให้ผุดขึ้นมาทั่วตัวเหมือนกับลมพิศม์ แดงดังผลตำลึงสุกเป็นนเม็ด ๆ เหมือนเมดผลแล้วกลับดำลงไปติดเนื้อให้คัน ถ้าแพทย์แก้ดีพิศม์ในนั้นคลายขึ้นแต่ผุดนั้นไม่หาย ต่อสามเดือนจึ่งตาย ไข้ลักษณดังนี้ ถ้าแพทย์ผู้ใดฉลาดแก้ไขในโรคไข้พิศม์จะรอดสักส่วนหนึ่ง ตายสามส่วน ถ้าไม่รู้จักในโรคไข้พิศม์ ตายทีเดียวร้อยคน ไม่รอดสักคนหนึ่ง ..."
ไข้กระโดงน. ไข้กาฬกลุ่มหนึ่ง การดำเนินของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง หากรักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ ไข้กระโดงน้ำ ไข้กระโดงไฟ ไข้กระโดงแกลบ และไข้กระโดงหิน ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้พระผู้เปนเจ้า จะแสงซึ่งไข้กาล มาเกิดแก่สัตวทั้งหลาย คือไข้กระโดงทั้งสี่ คือไข้กระโดงไฟหนึ่ง ไข้กระโดงน้ำหนึ่ง ไข้กระโดงหินหนึ่ง ไข้กระโดงแกลบหนึ่ง เข้ากันเปนสี่ประการ ... แต่ลักษณไข้กระโดงทั้งสี่นี้ มีอายุแต่วัน ๑ วัน ๒ วัน ถ้าแพทยจะแก้แต่วันหนึ่ง ไม่ถอยตาย บอกไว้ให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้กระโดงแกลบน. ไข้กระโดงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดเหมือนเม็ดทรายผุดขึ้นมาทั่วตัว มีอาการคันมาก ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณกระโดงแกลบนั้น มีลักษณสัณฐานผุดขึ้นมาเหมือนเม็ดทรายผุดขึ้นมาทั่วตัว ให้คันเป็นกำลังมาตรว่าจะเกาให้ทั่วตัวก็ไม่หายคัน ถึงจะเอาไม้ขูดให้โลหิตออกไปทั้งตัวก็ไม่หายคัน บอกไว้ให้แพทยพึงรู้ ..."
ไข้กระโดงน้ำน. ไข้กระโดงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ เชื่อมมัว หมดสติ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณะกระโดงน้ำนั้น จับให้นอนเชื่อมมัวไป ไม่เปนสติสมประดี ถึงจะเอารังมดแดงเข้ามาเฆาะ ให้ทั่วตัวก็มิรู้สึกตัว บอกไว้ให้แพทยพึงรู้ ..."
ไข้กระโดงไฟน. ไข้กระโดงชนิดนหึ่ง ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อนเหมือนถูกไฟเผาทั้งตัว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณไข้กระโดงไฟนั้น มีลักษณทำพิศม์เหมือนเปลวไฟ เผาไปทั่วกายประการหนึ่ง ..."
ไข้กระโดงหินน. ไข้กระโดงชนิดหนึ่ง ตำราว่าผู้ป่วยที่เป็นไข้ชนิดนี้จะยืนได้อย่างเดียว เมื่อนั่งลงเมื่อใดจะเจ็บปวดและทรมานมาก ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะกล่าวด้วยลักษณไข้กระโดงหิน ทำพิศม์ต่าง ๆ ไม่รู้ที่จะบอกแก่ใครได้ ให้ยืนที่เดียว ถ้าจะให้นั่งลงถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัศสาวะ แทบจะขาดใจตาย ..."
ไข้กาล, ไข้กาฬ"๑. น. โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีไข้ มีเม็ดขึ้นตามอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ ม้าม แล้วผุดออกมาที่ผิวหนังเป็นเม็ดสีดำ สีเขียว สีคราม หรือเป็นเม็ดทราย เป็นแผ่น เป็นวง ทั่วตัว ทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไป ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๑๐ ชนิด ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๒-๗๓] ตอนหนึ่งว่า ""... ทีนี้พระผู้เป็นเจ้าจะสแดง ซึ่งเรื่องราวไข้กาลจะมาบังเกิดแก่สัตวทั้งหลายสิบประการ คืออันใดบ้าง คือไข้ประกายดาษ ๑ ประกายเพลิง ๑ หัด ๑ เหือด ๑ งูสวัด ๑ เริมน้ำค้าง ๑ เริมน้ำเข้า ๑ ลำลาบเพลิง ๑ ไฟลามทุ่ง ๑ กำแพงทะลาย ๑ เข้ากันเปนสิบประการ ..."" ๒. น.โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง และมีเม็ดผื่นขึ้นตามร่างกาย ได้แก่ ไข้ประดง ไข้กระโดง และไข้รากสาด"
ไข้กาฬแทรกไข้พิษดูใน ประดง
ไข้กำเดาน้อยน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ตาแดง ไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว ขมปาก เปรี้ยวปาก เบื่ออาหาร อาเจียน นอนไม่หลับ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๒] ตอนหนึ่งว่า "... อันลักษณะไข้กำเดา มีสองประการนั้น มีอาการให้ปวดสีศะ ให้จักษุแดง ให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้ไอสะบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปากฃม ปากเปรี้ยวปากกินเข้าไม่ได้ แลให้อาเจียนให้นอนไม่หลับ ลักษณดังนี้เปนเพื่อไข้กำเดาน้อย ..."
ไข้กำเดาใหญ่น. โรคชนิดหนึ่ง คล้ายไข้กำเดาน้อย แต่อาการรุนแรงกว่า อาจมีอาการปวดศีรษะมาก ตาแดง ปากคอแห้ง เชื่อมมัว ปวดเมื่อย บางทีมีเม็ดขนาดเล็กซึ่งไม่มียอดผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัว ไอเป็นเลือดออกทั้งทางจมูกและปาก ชัก เท้ากำมือกำ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๒-๘๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะแสดง ซึ่งไข้กำเดาใหญ่นั้นต่อไป มีอาการนั้นให้ปวดศีศะเปนกำลัง ให้จักษุแดงให้ตัวร้อนเปนเปลวให้ไอให้สบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปากแห้งฅอแห้งเพดานแห้งฟันแห้ง ให้เชื่อมให้มัวให้เมื่อยไปทั้งตัว จับสบัดร้อนสท้านหนาว ไม่เปนเวลา บางทีผุดขึ้นเปนเม็ดเท่ายุงกัดทั้งตว แต่เม็ดนั้นยอดไม่มี บางทีให้ไอเปนโลหิตออกมาทางจมูกทางปาก บางทีให้ชักมือกำเท้ากำ ..."
ไข้กำแพงทลายน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ฟกบวม ผิวหนังจะมีตุ่มขนาดใหญ่ผุดขึ้นมา มีลักษณะเป็นตุ่มหัวเดียว ถ้าตุ่มนี้แตกจะทำให้อาการของโรครุนแรงมาก หากรักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๔] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณกำแพงทลาย เมื่อจะตั้งเปนขึ้นนั้น มีศีศะผุดขึ้นมาหัวเดียว ทำพิศม์สงเปนกำลังให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ให้ฟกบวมขึ้น น้ำเหลืองแตกออกพังออก วางยาไม่หยุดให้พังออกได้ตาย ..."
ไข้ข้าวไหม้น้อยน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดเล็ก ๆ ที่มียอดแหลมสีขาว ๆ ขึ้นเป็นแผ่นทั่วตัว ทำให้มีไข้สูง มือเท้าเย็น เจ็บทั้งในเนื้อและในกระดูก หอบ สะอึก เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เข้าไหม้น้อยให้จับตัวร้อนเปนเปลวไฟ ให้มือเยน ให้เท้าเยน ให้เจ็บไปทั่วสารพางค์กายให้เจ็บในเนื้อในกระดูกเปนกำลัง ให้หอบให้สอึก ให้เชื่อม ให้มัว ให้ลิ้นกระด้าง คางแขง ให้ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัดเปนแผ่นทั่วตัว มียอดแหลมขาว ๆ ถ้าแพทย์จะแก้ให้เร่งประทับยาให้หนัก ได้บ้างเสียบ้างถ้าลอกปอกหมูไปตายทีเดียว ไม่รอดสักคนนหนึ่ง ..." , ไข้เข้าไหม้น้อย ก็เรียก

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น