-->

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 2)

ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียมน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงขึ้นทั่วตัว เม็ดอาจเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทำให้มีอาการปวดในเนื้อในกระดูก ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบ สะอึก หมดสติ เป็นต้น เมื่อไข้หายแล้วเม็ดจะเปลี่ยนเป็นริ้วสีดำ ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ถ้าเม็ดที่ขึ้นลามไปที่ตับหรือปอด จะทำให้ผู้ป่วยตายทุกราย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เข้าไหม้ใบเตรียม ให้จับสบัดร้อนสบัดหนาว ให้ปวดศีศะเปนกำลัง ให้จักษุแดงเปนแสงโลหิตให้ร้อนเปนกำลัง ให้มือเย็น เท้าเย็น ให้เจบในเนื้อ ในกระดูก ทำพิศม์ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบ ให้สอึก ให้สลบ แล้วให้ผุดขึ้นมาทั้งตัวให้ปวดในเนื้อ ในกระดูก ผุดขึ้นมาดังลมพิศม์ แดงดังผลตำลึงสุก เปนแผ่นทั่วทั้งตัวใหญ่เท่านิ้วหนึ่ง สองนิ้ว สามนิ้ว ก็มี เปนเมดเล็ก ๆ เหมือนมดกัดก็มี แล้วกลับไปดำอยู่ ถ้าแพทย์จะแก้ดี จะรอดได้สักหนึ่งส่วน จะเสียสักสามส่วน คลายจากพิศม์สง ขึ้นเปนทิวผุดนั้นกลับดำเปนหนังแรด อยู่หกเดือนตายลงกินตับกินปอดขาดออกมาตาย ร้อยคนไม่รอดสักคนหนึ่ง ..." , ไข้เข้าไหม้ใบเกรียม หรือไข้เข้าไหม้ใบเตรียม ก็เรียก
ไข้ข้าวไหม้ใหญ่น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดเล็ก ๆ ที่มียอดแหลมสีขาว ๆ ขึ้นเป็นแผ่นทั่วตัว ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายคลึงกับไข้ข้าวไหม้น้อย แต่รุนแรงกว่า นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดศีรษะมาก ตาแดง มือเท้าเย็น เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้เฃ้าไหม้ใหญ่ ให้จับสบัดร้อนน สท้านหนาว ให้ปวดศีศะเปนกำลังให้จักษุแดงเปนแสงโลหิต ให้เท้าเย็นมือเย็นให้เจบในเนื้อ ในกระดูก ทำพิศม์ ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัดเปนแผ่นทั่วตัวมียอดแหลมขาว ๆ ถ้าแพทย์จะแก้ให้เร่งประทับยาให้หนัก ได้บ้างเสียบ้างถ้าลอกปอกหมูออกไปตายทีเดียว ไม่รอดสักคนหนึ่ง ..." , ข้าเข้าไหม้ใหญ่ ก็เรียก
ไข้เข้าไหม้น้อยดู ไข้ข้าวไหม้น้อย
ไข้เข้าไหม้ใบเกรียม, ไข้เข้าไหม้ใบเตรียมดู ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม
ไข้เข้าไหม้ใหญ่ดู ไข้ข้าวไหม้ใหญ่
ไข้คดน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ชักจนตัวงอ ตำราว่าแพทย์มีเวลาเพียง ๑ วัน ที่จะรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยมีอาการตัวงอมากจนเส้นหลังขาด ก็จะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้คดนั้น ให้จับชักงอเข้าจนเส้นหลังขาดตาย... ไข้สองประการนี้มีอายุ ที่แพทยจะแก้ได้นั้นแต่วันเดียว ..."
ไข้งูตวัดดู ไข้งูสวัด
ไข้งูสวัดน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ผิวหนังมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดทราย ภายนีน้ำใส ๆ ซึ่งต่อมาจะเป็นหนองและตกสะเก็ดในที่สุด ตุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้จะเรียงเป็นแถวลักษณะเหมือนงู ตำราว่าโรคนี้ถ้าผู้หญิงเป็นข้างซ้ายหรือผู้ชายเป็นข้างขวา จะรักษายาก และถ้าลามข้ามสันหลังไปจะรักษาไม่ได้ มักถึงตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้งูสวัดต่อไป ลางทีให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะลางทีก็ไม่จับ เป็นเม็ดทรายขึ้นมาเปนนแถวขึ้นมามีสัณฐานดังงู เม็ดพอง ๆ เปนเงาหนองก็มี ถ้าผู้หญิงเปนซ้าย ถ้าผู้ชายเปนขวา และข้มสันหลังไป รักษาไม่ได้แต่พิศม์สงร้อนดังไฟจุด บอกไว้ให้พึงรู้ ..." , ไข้งูตวัด ก็เรียก
ไข้จันทรสูตร[-จันทะสูด] น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง มือเท้าเย็น เชื่อมมัว ไม่มีสติ ตัวแข็งเหมือนท่อนไม้ หอบสะอึก เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ไข้นี้จะกำเริบทำให้หมดสติเมือ่พระจันทร์ขึ้นดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้จันทรสูตร ให้จับเท้าเย็นตัวร้อนเป็นเปลว เท้าเย็นมือเย็นให้เชื่อมมัว ไม่มีสะติสมประดีให้หอบให้สอึก จับตัวแขงไปเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ให้ลิ้นกระด้าง คางแขง จับไม่เปนเวลา แต่ว่าไม่ผุด ต่อพระจันทรขึ้นทำพิศม์ให้สลบ ถ้าพระจันทรไม่ขึ้น พิศม์ถอยลงบอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้จับโปงดูใน จับโปงน้ำ
ไข้จับสั่นดู ไข้ป่า (โบราณเรียกเช่นนี้เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการหนาวสั่น)
ไข้เจลียงน. โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้วันเว้นวัน ในทางการแพทย์แผนไทย มีหลายชนิด ได้แก่ ไข้เจลียงอากาศ ไข้เจลียงพระสมุทร ไข้เจลียงไพร
ไข้เจลียงพระสมุทรน. ไข้เจลียงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการเมื่อยขบตามข้อกระดูก หนาวสะท้าน หอบ ร้อนในกระหายน้ำ เท้าเย็นขึ้นไปถึงน่อง เสียวไปทั้งตัว ปวดศีรษะ กินอาหารไม่ได้ ดังจารึกตำรายาวัดราชโรสารามราชวรวิหาร [๕/๑๔๖] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณะไข้เจลียงพระสมุทรนั้น เมื่อจะจับให้เมื่อยขบทุกข้อกระดูก ให้หนาวสะท้านให้หอบให้ร้อนกระหาย ให้ตีนเย็นถึงน่อง ให้เสียวไปทั้งกาย ให้ปวดศีรษะเป็นกำลัง กินอาหารมิได้ ให้ละอองตีนมือนั้นขาว โทษเสมหะเป็นกำลัง ฯ ..."
ไข้เจลียงไพรน. ไข้เจลียงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ หนาวสั่นและร้อนกระหายน้ำสลับไปมา ปัสสาวะแดง มือแดง เดินไม่สะดวก อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย ดังจารึกตำรายาวัดราชโรสารามราชวรวิหาร [๕/๑๕๒] ตอนหนึงว่า "... ลักษณะไข้เจลียงไพรนั้น กระทำอาการดุจปีศาจเข้าสิงมักขึ้งโกรธ เมื่อจับนั้นให้สะท้านหนาวสั่นยิ่งนัก ให้ร้อนกระหายน้ำนักให้ปัสสาวะแดงเดินมะได้สะดวก ให้ละอองตีนมือนั้นแดง โทษดีเป็นกำลัง ฯ ..."
ไข้เจลียงอากาศน. ไข้เจลียงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการหนาวสะท้าน เท้าเย็น ร้อนใน กระหายน้ำ อุจจาระปัสสาวะไม่ออก ดังจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร [๕/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณะไข้เจลียงอากาศนั้นให้จับสะท้าน ให้เท้าเย็น ให้ร้อนในอกเป็นกำลังให้กระหายน้ำนัก ให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ ๑ ให้ละอองตีนมือนั้นเขียว ให้ตาขลัว น้ำตาแห้ง โทษสันนิบาต ๒ เป็นกำลัง ฯ ..."
ไข้ดอกบวบดู ไข้ป่า
ไข้ดอกสักดู ไข้ป่า (โบราณเรียกเช่นนี้เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นโรคนี้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกสักบาน)
ไข่ดันน. ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใต้ผิวหนังของบริเวณขาหนีบทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งเป็นแนวต่อระหว่าง ลำตัวกับต้นขา ทำหน้าที่กัดและทำลายเชื้อโรคที่อาจผ่านเข้ามาในร่างกายท่อนบน, ฟองดัน ก็เรียก
ไข้ดานหิน, ไข้ดารหินน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นผุดขึ้นมาเป็นวงที่ต้นขาทั้ง ๒ ข้าง ผื่นที่ผุดขึ้นมาอาจมีสีเขียว สีคราม สีแดง หรือสีดำ ก็ได้ ทำให้มีไข้ (แต่ตัวเย็น) ร้อนในกระหายน้ำ ลิ้นกระด้างคางแข็ง ปากคอแห้ง เชื่อมมัว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔] ตอนหนึ่งว่า "... ดทีนี้จะว่าด้วยลักษณดารหิน ขึ้นต้นขาทั้งสองข้างเปนวงเขียวก็มี เปนผลศีว่าศีคราม ศีผลตำลึงสุกศีหมึก ลักษณไข้จับให้ ตัวเย็นดังหิน ให้ร้อนในให้กระหายน้ำทำพิศม์ ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ปากแห้งคอแห้ง ฟันแห้ง เชื่อมมัวทำพิศม์จนสลบ ให้เร่งรักษาแต่ยังอ่อน ถ้าเปื่อยลอกออกไปอย่ารักษาเลยอาการนั้นตัดใน ๓ วัน ๗ วัน แพทย์จะแก้ได้แต่ยังไม่ลอกออกไป บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้ดาวเรืองน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดผุดขึ้นมาเหมือนลายโคมจีนครึ่งลูก ทำให้มีไข้สูง แต่มือเท้าเย็น ตาแดง ปวดศีรษะ อาเจียน เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ หอบสะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ผู้ป่วยโรคนี้บางรายอาจรักษาให้หายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ดาวเรือง ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้จักษุแดงเปนแสงโลหิต ให้ปวดศีษะเปนกำลัง ดังว่าจักษุแดงจะแตกออกมา ให้อาเจียนเปนกำลัง ให้เชื่อมมัวร้อนในกระหายน้ำให้หอบสอึกให้ลิ้นกระด้างคางแขง ลางทีทำพิษถึงสลบ ให้ผุดขึ้นเปนเหมือนลายโคมครึ่งลูก ถ้าแก้ดีได้ส่วนหนึ่งเสียส่วนหนึ่ง บอกให้แพทยพึงรู้ ..."
ไข้ตรีโทษน. ความเจ็บป่วยอันเกิดจากกองสมุฏฐานปิตตะ วาตะ และเสมหะ ร่วมกันกระทำให้เกิดโทษ
ไข้ตามฤดูดู ไข้เปลี่ยนฤดู
ไข้ประกายดาษน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดผุดขึ้นทั่วตัวเหมือนฝีดาษ มีไข้สะบัดร้อนสะท้านหนาว มือเท้าเย็น ปวดศีรษะ ตาแดง เชื่อมมัว ปวดในเนื้อ ในกระดูก ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบสะอึก เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๒] ตอนหนึ่งว่า "... ผู้เปนเจ้าจะแสดงคือประกายดาษนั้น มีลักษณไข้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ให้ปวดศีศะให้จักษุแดง เปนแสงโลหิต ให้เชื่อมมัวเปนนกำลัง ให้ปวดกระดูก ให้ปวดในเนื้อ กระทำลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สอึกผุดขึ้นมา เหมือนเม็ดฝีดาษทั่วตัว ทำพิศม์ให้สลบ บอกให้แพทย์พึงรู้ ให้เร่งวางยาให้จงดีแก้ไม่ดีตาย ..."
ไข้ประกายเพลิงน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้ประกายดาษ แต่มีอาการรุนแรงกว่า เช่น ไข้สูง เม็ดที่ผุดขึ้นมีขนาดใหญ่ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๒] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ประกายเพลิงต่อไป อาการนั้นเหมือนประกายดาษ แต่เม็ดผิดกันเม็ดใหญ่เท่าเม็ดเทียน เท่าเม็ดทรายขึ้นทั่วตัว ร้อนเปนไฟหัวนั้นให้ร้อนดังไฟลวก ทำพิศม์ทำสงเปนกำลัง ..."
ไข้ประดงดู ประดง
ไข้ประดงควายดู ประดงควาย
ไข้ประดงช้างดู ประดงช้าง
ไข้ประดงไฟดู ประดงเพลิง, ประดงไฟ
ไข้ประดงมดดู ประดงมด
ไข้ประดงแมวดู ประดงแมว

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น