-->

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 3)

ไข้ประดงแรดดู ประดงแรด
ไข้ประดงลมดู ประดงลม
ไข้ประดงลิงดู ประดงลิง
ไข้ประดงวัวดู ประดงวัว
ไข้ป่าน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงมากเป็นเวลา ส่วนใหญ่มักมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศีรษะ มือและเท้าเย็น มีเหงื่อออกมาก กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หากเป็นติดต่อกันหลายวันไม่หาย ผู้ป่วยจะซีด เบื่ออาหาร ตับโต ม้ามโต เป็นต้น โบราณเรียก ไข้ป่า เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นโรคนี้หลังกลับออกมาจากป่า, ไข้จับสั่น ไข้ดอกสัก หรือไข้ดอกบวบ ก็เรียก
ไข้ป้างดู ป้าง
ไข้ปานดำน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นคล้ายปานสีดำ ขนาดต่าง ๆ กันผุดขึ้นมา มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ บางครั้งอาจมีอาการมือเท้าเย็น หรือลิ้นกระด้างคางแข็ง หากผื่นนี้ผุดขึ้นทั่วตัว อาจทำให้ตายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณปานดำปานแดงนั้น ให้จับเท้า มือเย็น ลางทีให้เท้าร้อนมือร้อนให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้ปวดศีศะให้จักษุแดงเปนสายโลหิต ให้ร้อนในอก ให้เชื่อมให้มัว ลางทีพิศม์กะทำภายในยากะทุ้งไม่ออก ให้ร้อนในกระหายน้ำ ลางทีให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ผุดออกเท่าวงสะบ้ามอนบ้าง เท่าใบพุดทราบ้าง เท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วบ้าง ให้แพทย์รักษาให้รวังให้จงได้ ปานแดงนั้นเบากว่าปานดำ บอกไว้ให้พึงรู้ถ้าขึ้นครึ่งตัวรักษารอดบ้างตายบ้าง ถ้าขึ้นทั้งตัวศีดังผลตำลึงสุก ศีดังผลว่าสุก ศีดังคราม ศีดำดังหมึกลักษณดังนี้ตาย ..."
ไข้ปานแดงน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นคล้ายปานสีแดง ขนาดต่าง ๆ กันผุดขึ้นมา มีอาการคล้ายไข้ปานดำ แต่รุนแรงน้อยกว่า ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณปานดำปานแดงนั้น ให้จับเท้า มือเย็น ลางทีให้เท้าร้อนมือร้อนให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้ปวดศีศะให้จักษุแดงเปนสายโลหิต ให้ร้อนในอก ให้เชื่อม ให้มัว ลางทีพิศม์กะทำภายในยากะทุ้งไม่ออก ให้ร้อนในกระหายน้ำ ลางทีให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ผุดออกเท่าวงสะบ้ามอนบ้าง เท่าใบพุดทราบ้าง เท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วบ้าง ให้แพทย์รักษาให้รวังให้จงได้ ปานแดงนั้นเบากว่าปานดำ บอกไว้ให้พึงรู้ ถ้าขึ้นครึ่งตัวรักษารอดบ้างตายบ้าง ถ้าขึ้นทั้งตัวศีดังผลตำลึงสุก ศีดังผลว่าสุก ศีดังคราม ศีดำดังหมึกลักษณดังนี้ตาย ..."
ไข้เปลวไฟฟ้าน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง ทำให้ใบหน้า จมูก อก และลิ้น เป็นสีดำ ปาก ลิ้น และฟันแห้ง เพดานปากลอก หมดสติ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕-๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะกล่าวด้วยลักษณไข้เปลวไฟฟ้าถ้าทำพิศม์ให้ร้อน เปนกำลังให้ร้อนเปนเปลวจับเอาหน้าดำ จะมูกดำอกดำสีเปนควันให้ปากแห้งลิ้นแห้งฟันแห้งให้ปากแตกระแหง ลิ้นแตกระแหงลิ้นดำเพดานลอกให้สลบ ไม่รู้จักสะติสมประดี ถ้าอาการเหมือนกล่าวมานี้จะรอดสักส่วนหนึ่ง ตายสักสี่ส่วน ..."
ไข้เปลี่ยนฤดูน. โรคชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของแต่ละฤดู ผู้ป่วยมักมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว กระหายน้ำ เป็นต้น ในทางการแพทย์แผนไทยอาจแบ่งโรคนี้ตามฤดูกาลเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ไข้ในฤดูร้อน ไข้ในฤดูฝน และไข้ในฤดูหนาว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑๕/๓๕๖] ตอนหนึ่งว่า "... พระอาจารย์เจ้าจะแสดงซึ่งไข้ทั้งสามสืบต่อไป แลไข้ในคิมหันตฤดูนั้นคือ เดือน ๕, เดือน ๖, เดือน ๗, เดือน ๘ เป็นไข้เพื่อโลหิตเป็นนใหญ่กว่าลมกว่าเสมหะทั้งปวงทุกประการ ไข้ในวัสสานะฤดูนั้นคือเดือน ๙, เดือน ๑๐, เดือน ๑๑, เดือน ๑๒ นี้ ไข้เพื่อลมเป็นใหญ่กว่าเลือด และเสมหะทั้งปวงทั้งสองประการ ไข้ในเหมันตฤดูนั้นคือ เดือน ๑-๒-๓-๔ นี้ไข้เพื่อกำเดาและเพื่อดีพลุ่ง เป็นนใหญ่กว่าเสมหะ แลลมทั้งสองประการ อาการมีต่าง ๆ ให้นอนละเมอฝันร้ายแลเพ้อไป ย่อมเป็นหวัด มองคร่อหิวหาแรงมิได้ ให้เจ็บปาก ให้เท้าเย็น, มือเย็นแลน้ำลายมากแลกระหายน้ำเนือง ๆ แลให้อยากเนื้อพล่า ปลายำสดคาว ให้อยากกินหวาน, กินคาว มักให้บิดขี้เกียจคร้าน มักเป็นฝีพุพองเจ็บข้อเท้าข้อมือ ย่อมสะท้านหนาวดังนี้ ท่านให้วางยาอันร้อนจึงชอบโรคนั้นแล ...", ไข้ตามฤดู ไข้สามฤดู ไข้หัวลม หรืออุตุปริณามชาอาพาธา ก็เรียก
ไข้พิษไข้กาฬน. โรคกลุ่มหนึ่งที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อนจัด ปากแห้ง ฟันแห้ง น้ำลายเหนียว ตาแดง ร้อนในกระหายน้ำ มือเท้าเย็น มีเม็ดสีดำ แดงหรือเขียว ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างผุดขึ้นตามร่างกาย ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๒๑ ชนิด โดยเรียกชื่อแตกต่างกันตามลักษณะอาการ เช่น ไข้อีดำ ไข้อีแดง ไข้ปานดำ ไข้ปานแดง ไข้รากสาด ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๑] ตอนหนึ่งว่า "... เมื่อผู้เป็นเจ้าจะสะแดงเพศไข้พิศม์ไข้เหนือและไข้กาล ให้คนทั้งหลายรู้ประจักษคืออันใดที่จะเป็นไข้พิศม์นั้นเปนต้น ไข้อิดำอิแดง ไข้ปานดำปานแดง ไข้ลากสาดไข้สายฟ้าฟาด ไข้ระบุชาติไข้กะดานหิน ไข้สังวาลพระอินทรไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล ไข้เข้าไหม้ใหญ่ ไข้เข้าไหม้น้อย ไข้เข้าใบเตรียม ไข้ไฟเดือนห้าไข้เปลวไฟฟ้า ไข้หงษระทศ ไข้ดาวเรือง ไข้จันทรสูตร ไข้สุริยสูตร ไข้เมฆสูตร ว่าดังนี้คนทั้งลหายจึงกราบทูล ว่าข้าแต่ผู้เปนเจ้าจะได้โปรดสัตวทั้งหลายให้อายุยืนยาวไปข้างน่านั้น ขอผู้เปนเจ้าโปรดให้ ฯข้าฯ ทราบอาการไข้เพศไข้ ลักษณไข้ทุกประการ ..."
ไข้ไฟเดือนห้าน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีดำ หรือสีแดงขึ้นที่หน้าอก ทำให้มีอาการร้อนในอกมาก ร้อนในกระหายน้ำ เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าดัวยลักษณไข้ ไฟเดือนหน้าถ้าทำพิศม์ให้ร้อนในอกเปนกำลัง ให้ผุดขึ้นที่อก ดำก็มีแดงก็มี สีดังเปลวไฟให้ร้อนในให้กระหายน้ำ ให้เชื่อมมัวไม่มีสะติสมประดี ให้ลิ้นกระด้างคางแขงให้สลบ จึ่งบอกให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้ไฟลามทุ่งน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ เชื่อมมัว ผิวหนังมีผื่นผุดขึ้นเป็นแผ่น ๆ มีลักษณะคล้ายไข้ลำลาบเพลิง แต่อาการของโรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เหมือนไฟลามทุ่ง ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๔] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไฟลามทุ่ง อาการก็เหมือนกัน กับลำลาบเพลิงเหมือนกัน ..."
ไข้มหานิลน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มหรือเม็ดขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง เห็นเป็นเงาสีน้ำเงินเข้ม (เหมือนสีนิล) อยู่ในเนื้อ มีอาการคล้ายกับไข้มหาเมฆ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔-๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณมะหาเมฆมหานิลต่อไป ถ้าว่าผุดขึ้นในเนื้อยังไม่ขึ้นหมด มีสัณฐานเท่าผลจิ่งจ้อสุกก็มี เปนเงาอยู่ในเนื้อยังมิขึ้นหมด ผุดทั้งตัวก็มีศีดำดังเมฆศีดำนิลกระทำพิศม์จับเชื่อมมัว ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สอึกไม่เปนสมประดี ให้ปากแห้งฟันแห้ง ให้ถ่ายอุจาระปะสาวะ ไม่รู้ตัวไม่รู้สึกว่าดีว่าชั่วให้เชื่อมมัวไปไม่เปนเวลา ให้สลบ ให้แพทย์พิจารณารักษาให้เลอียด ตายสามส่วนรอดส่วนหนึ่ง ..."
ไข้มหาเมฆน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีตุ่มหรือเม็ดขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง เห้นเป็นเงาสีดำอยู่ในเนื้อ ทำให้มีอาการเชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบสะอึก ปากฟันแห้ง ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่รู้สึกตัว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔-๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณมะหาเมฆมหานิลต่อไป ถ้าว่าผุดขึ้นในเนื้อยังไม่ขึ้นหมด มีสัณฐานเท่าผลจิ่งจ้อสุกก็มี เปนเงาอยู่ในเนื้อยงมิขึ้นหมด ผุดทั้งตัวก็มีศีดำดังเมฆศีดำนิล กระทำพิศม์จับเชื่อมมัว ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สอึกไม่เปนสมประดี ให้ปากแห้งฟันแห้ง ให้ถ่ายอุจาระปะสาวะไม่รู้ตัวไม่รู้สึกว่าดีว่าชั่วให้เชื่อมมัวไปไม่เปนเวลา ให้สลบ ให้แพทย์พิจารณารักษาให้เลอียด ตายสามส่วนรอดส่วนหนึ่ง ..." , เขียนว่า ไข้มหาเมฆ ก็มี
ไข้มะหาเมฆดู ไข้มหาเมฆ
ไข้เมฆสูตร[-เมกคะสูด] น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้สุริยสูตร แต่แตกต่างกันที่ไข้จะกำเริบทำให้หมดสติเมื่อเกิดพายุฝน ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้เมฆสูตร ลักษณอาการเหมือนไข้สุริยะสูตรแต่ผิดกันบ้างเกิดพยุฟ้าพะยุฝน เมฆตั้งขึ้นทั่วทิศกระทำพิศม์ให้สลบไข้สามประการนี้ บอกให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้ระบุชาติน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงผุดขึ้นตามร่างกาย ทำให้เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ หอบสะอึก ตำราว่าไข้ประเภทนี้รักษายาก ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ระบุชาตผุดเปนเม็ดเท่าเม็ดผักปลังก็มี เท่าเม็ดเทียนก็มี เท่าเม็ดงาก็มี เปนเหล่ากันอยู่เดิมเท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วก็มี ศีดังชาตยอดถานทั่วทั้งตัว กระทำพิศม์ให้จับเชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบสอึกกระทำพิศม์ต่าง ๆ ถ้าผู้จะเปนแพทย์รักษาโรคดีรอดบ้างตายบ้าง ถ้ารักษาไม่ดีตายหมดบอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดน. ไข้กาฬกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวร้อนจัด มือเท้าเย็น ปวดศีรษะมาก ตาแดง เพ้อ มือกำเท้ากำ ตาเหลือตาซ้อน หรืออาจมีอาการตัวเย็น เงหื่อออกมากแต่ร้อนภายใน หอบ สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เชื่อมมัว ไม่มีสติ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งไข้รากสาดออกเป็น ๙ ชนิด เรียกชื่อแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่ปรากฎให้เห็นทางผิวหนัง ได้แก่ ไข้รากสาดปานแดง ไข้รากสาดปานดำ ไข้รากสาดปานเขียว ไข้รากสาดปานเหลือง ไข้รากสาดปานขาว ไข้รากสาดปานม่วง ไข้รากสาดนางแย้ม ไข้รากสาดพะนันเมือง และไข้รากสาดสามสหาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘-๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้กาลไข้ลากสาดมีเก้าประการ ให้เท้าเย็นมือเย็น ให้ตัวร้อนเปนเปลวไฟ ให้ปวดศีศะเปนกำลัง ให้จักษุแดงเปนโลหิต ให้จับเพ้อพกให้ร่ำรี้ร่ำไร เปนปีสาจ์เข้าอยู่ ให้ชักมือกำเท้ากำจักษุเหลือกจักษุช้อนให้ร้อนเปนตอน เย็นเปนตอนลางทีจับเหมือนหลับ จับตัวเย็นให้เหื่อตก เอาผ้าบิดออกได้แต่ร้อนในอกเปนกำลัง ให้หอบให้สอึกลิ้นกระด้างคางแฃง ให้จับเชื่อมมัวไม่สะติสมประดี ลางทีกระทำพิศม์ภายในให้ลงเปนโลหิต ไอเปนโลหิตให้อาเจียนเปนโลหิตเปนเสมหะ โลหิตเหน้าก็มีผุดขึ้นมา เหมือนลายต้นกระดาษก็มี ผุดขึ้นมาเปนทรายขาวทั้งตัวก็มี ลายเหมือนงูลายสาบก็มี ลายเหมือนลายเลือดก็มี ลายเหมือนดีบุกก็มี ...", ไข้ลากสาด ก็เรียก
ไข้รากสาดนางแย้มน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มขนาดแตกต่างกันผุดขึ้นติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ถ้าขึ้นทั่วทั้งตัวจะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดนางแย้ม ผุดขึ้นมาเปนเมดเล็ก ๆ เท่านิ้วหนึ่ง สองนิ้ว สามนิ้ว มีสัณฐานดังดอกนางแย้มทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดนางแย้ม บอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานขาวน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีขาวผุดขึ้นเป็นวง ขนาดเท่าผลพุทรา ถ้าขึ้นทั่วทั้งตัวจะตาย ดังคัมภีร์ตตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดปานฃาว ผุดขึ้นมาเปนวงเท่าผลพุทรา ฃาวเหมือนศีน้ำเข้าเชดผุดขึ้นทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานขาว บอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานเขียวน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีคราม ขนาดแตกต่างกัน ผุดขึ้นเป็นกลุ่มตามผิวหนัง ถ้าเป็นทั่วทั้งตัวและลิ้นเป็นสีคราม ผู้ป่วยนั้นจะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดปานเขียวผุดขึ้นมาเปนนหมู่ โตหนึ่งนิ้ว สองนิ้ว สามนิ้ว ก็มี เขียวดังศีครามลิ้นก็เขียวผุดขึ้นทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานเขียวบอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานดำน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ ผุดขึ้นมาเป็นวง ๆ ตามตัว ลิ้นจะเป็นสีดำ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ ลากสาดปานดำ ลักษณผุดขึ้นมาเท่าแว่นน้ำอ้อยดำดังนิล ลิ้นดำ ผุดทั่วตัวบอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดปานแดงน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มขนาดเล็กสีแดง ผุดขึ้นเป็นกลุ่มทั่วทั้งตัว ตำราว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตาย รักษาไม่ได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ลากสาดปานแดง มีลักษณผุดขึ้นมาเปนเม็ดถั่วเล็ก ๆ แดง ๆ เปนหมู่เท่านิ้วสองนิ้วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานแดงตาย ..."
ไข้รากสาดปานม่วงน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มสีม่วงเข้มผุดขึ้นมาถ้าขึ้นทั่วทั้งตัว ผู้ป่วยนั้นจะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดปานม่วง ผุดขึ้นมาศีดุจดังผลผักปลังสุก ผุดขึ้นทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานม่วง บอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานเหลืองน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มขนาดเล็กผุดขึ้นเป็นกลุ่มตามผิวหนังทั่วทั้งตัว ผิวและลิ้นจะเป็นสีเหลือง ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ลากสาดปานเหลืองให้ผุดขึ้นมาเปนเมดเล็ก ๆ โตเท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วสามนิ้ว แต่ผิวนั้นเหลืองลิ้นเหลือง ชื่อว่าลากสาดปานเหลือง บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดพะนันเมืองน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผิวหนังนูนขึ้นเป็นแถบสีดำขนาดต่าง ๆ กันทั่วทั้งตัว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดพะนันเมือง เปนหมู่เปนริ้วขึ้นมาเหมือนตัวปลิง โตนิ้วหนึ่ง สองนิ้ว สามนิ้ว ดำเหมือนมินม่อไปทั่วทั้งตัว ชื่อว่าลากสาดพะนันเมือง บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดสามสหายน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงเป็นกลุ่มเล็ก ๆ (ขยุ้ม) คล้ายตีนสุนัขผุดขึ้นทั่วทั้งตัว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดสามสหาย ให้ผุดขึ้นมาเปนเม็ด ๆ เหมือนเท้าสุนักข์มีศีแดงทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดสามสหาย บอกไว้ให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้รำเพรำพัดน. โรคชนิดหนึ่ง มักไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น อาจมีไข้ จุกเสียดในท้อง อาเจียน ละเม้อเพ้อพก ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๑๘๐] ตอนหนึ่งว่า "... ถ้าไข้รำเพรำพัด คือให้รากให้จุกในอุทร แลให้แดกขึ้นแดกลงเป็นกำลัง แลให้มะเมอเพ้อพกดังผีเข้าแพทย์ไม่รู้ว่าเปนไข้สันนิบาตนั้นหามิได้เลย ...", ไข้ลมเพลมพัด รำเพรำพัด หรือลมเพลมพัด ก็เรียก
ไข้เริมน้ำข้าว, ไข้เริมน้ำเข้าน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะ ผิวหนังมีเม็ดเล็ก ๆ ผุดเรียงตัวกันแน่นจนเห็นเป็นแผ่นเดียวกัน หลายกลุ่ม ภายในมีน้ำขุ่น ๆ (เรียก เริมน้ำเข้า หรือ เริมน้ำข้าว) ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เริมน้ำค้าง เริมน้ำเข้านั้นต่อไป มีลักษณให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้จับเชื่อมมัวแล้วให้ปวดศีศะ แล้วให้ผุดขึ้นมาเปนแผ่นนิ้วหนึ่งสองนิ้วสามนิ้วสี่นิ้ว เปนเหล่า ๆ กัน น้ำใสเขาเรียกว่าเริมน้ำค้าง ถ้าน้ำขุ่นเขาเรียกว่าเริมน้ำเข้า ให้เร่งประทับยา บอกไว้ให้พึงรู้ ..."

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น