ในการที่จะรู้จักเภสัชวัตถุนั้น ๆ จำเป็นต้องรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะพื้นฐานของวัตถุธาตุ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ คือ
๑. รูป คือ การรู้รูปลักษณะของตัวยานั้นว่ามีรูปร่างที่ปราฏเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพืชวัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นพืชจำพวกต้น จำพวกเถา จำพวกหัว จำพวกผักหรือหญ้า ว่ามีส่วนต่าง ๆ เช่น ต้น ราก ใบ ดอก ผล มีรูปอย่างไร ถ้าเป็นสัตว์วัตถุ ก็ต้องรู้ว่าเป็น สัตว์จำพวกสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศ ว่ามีอวัยวะต่าง ๆ เช่น ขน เขา นอ เขี้ยว กระดูก มีรูปเป็นอย่างไร ถ้าเป็นธาตุวัตถุ ก็ต้องรู้ว่าเป็นธาตุสลายตัวได้ง่าย ธาตุสลายตัวได้ยากว่า มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว เป็นเกล็ด เป็นแผ่น หรือเป็นผง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรูปของตัวยา
๒. สี คือ การรู้สีของตัวยานั้นว่ามีสีอะไร เช่น ใบไม้มีสีเขียว กระดูกสัตว์มีสีขาว แก่นฝางมีสีแดง ยาดำมีสีดำ จุนสีมีสีเขียว กำมะถันมีสีเหลือง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักสีของตัวยา
๓. กลิ่น คือ การรู้กลิ่นของตัวยานั้นว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร อย่างนี้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น กฤษณา กำยาน อบเชย ดอกมะลิ ชะมดเช็ด อำพันทอง มีกลิ่นหอม ยาดำ กำมะถัน กระดูกสัตว์ มหาหิงค์ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น เรียกว่ารู้จักกลิ่นของตัวยา
๔. รส คือ การรู้รสของตัวยานั้นว่ามีรสเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าอย่างนี้รสจืด รสขม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเมาเบื่อ รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม หรือรสฝาด เช่น พริกไทยมีรสร้อน มะนาวมีรสเปรี้ยว น้ำผึ้งมีรสหวาน เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรสของตัวยา
๕. ชื่อ คือ การรู้ของตัวยานั้นว่าเขาสมมติชื่อเรียกไว้อย่างไร เช่น สิ่งนั้นเรียกชื่อเป็นกะทือ มะขาม วัว กวาง เสือ เกลือ กำมะถัน ศิลายอน เป็นต้น รเียกว่า รู้จักชื่อของตัวยา
ในหลัก ๕ ประการดังกล่าวมานี จะเป็นข้อพิสูจน์ทำให้เรารู้ว่าเป็นตัวยาอะไร ฉะนั้นการจะรู้จักตัวยาได้นั้น จึงต้องอาศัยหลัก ๕ ประการดังกล่าวนี้
ข้อมูลจาก ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น