เภสัชวัตถุ คือ วัตถุธาตุนานาชนิดที่นำมาใช้ประกอบเป็นยารักษาโรค
ตามคัมภีร์แพทย์กล่าวไว้ว่า "สรรพวัตถุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นแต่ธาตุทั้ง ๔ ย่อมเป็นยารักษาโรคได้ทั้งสิ้น" ตามคำกล่าวก็อาจจะเป็นได้ แต่จะมีสรรพคุณและประโยชน์มากน้อยอย่างไรต้องสุดแล้วแต่ชนิดของวัตถุธาตุนั้น ๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะ ส่วนที่ใช้ ชนิดของวัตถุธาตุ อ่อนหรือแก่ เก่าหรือใหม่ สดหรือแห้ง มีคุณภาพดีหรือเลวอย่างไร เมื่อนำมาใช้แล้วจะมีสรรพคุณจริงตามตำราหรือไม่ การเอาใจใส่อย่างละเอียดและปราณีตอย่างนี้ ต้องมีอยู่ประจำตัวเภสัชกรเสมอ
เภสัชวัตถุจำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ พืชวัตถุ ได้แก่ พรรณไม้ต่าง ๆ จำแนกออกได้เป็น พืชจำพวกต้น, พืชจำพวกเถา-เครือ, พืชจำพวกหัว-เหง้า, พืชจำพวกผัก และพืชจำพวกหญ้า ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่าง ๆ ของพืชที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ราก, หัว, ต้น, กะพี้, แก่น, เปลือก, ใบ, ดอก, เกสร, ผล, เมล็ด ว่า มีรูป, สี, กลิ่น, รส และมีชื่อเรียกอย่างไร
ประเภทที่ ๒ สัตว์วัตถุ ได้แก่ ร่างกายและอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย จำแนกสัตว์ออกได้เป็น สัตว์บก, สัตว์น้ำ และสัตว์อากาศ ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ขน, เขา, เขี้ยว, นอ, หนัง, กราม, กรวด, น้ำดี, เล็บ, กระดูก ว่าเป็นของสัตว์อะไร มีรูป, สี, กลิ่น, รส และมีชื่อเรียกว่าอย่างไร
ประเภทที่ ๓ ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเอง หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ หรือสิ่งสังเคราะห์ขึ้น จำแนกธาตุออกได้เป็น ธาตุที่สลายตัวได้ง่าย และธาตุทีสลายตัวได้ยาก ซึ่งจะต้องรู้จักแร่ธาตุนั้น ๆ ว่า มี รูป, สี, กลิ่น, รส และมีชื่อเรียกอย่างไร
ข้อมูลจาก ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น