-->

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 4)

ไข้เริมน้ำค้างน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะ ผิวหนังมีเม็ดเล็ก ๆ ผุดเรียงตัวกันแน่นจนเห็นเป็นแผ่นเดียวกัน หลายกลุ่ม ภายใจนะมีน้ำใส ๆ (เรียก เริมน้ำค้าง) ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เริมน้ำค้าง เริมน้ำเข้านั้นต่อไป มีลักษณให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้จับเชื่อมมัวแล้วให้ปวดศีศะ แล้วให้ผุดขึ้นมาเปนแผ่น นิ้วหนึ่งสองนิ้วสามนิ้วสี่นิ้ว เปนเหล่า ๆ กัน น้ำใสเขาเรียกว่าเริมน้ำค้าง ถ้าน้ำขุ่นเขาเรียกว่าเริมน้ำเข้า ให้เร่งประทับยา บอกให้ให้พึงรู้ ..."
ไข้ลมเพลมพัดดู ไข้รำเพรำพัด
ไข้ลากสาดดู ไข้รากสาด
ไข้ลำลาบเพลิงน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ เชื่อมมัว ผิวหนังมีผื่นผุดขึ้นเป็นแผ่น ๆ ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนนมาก เหมือนไฟไหม้น้ำร้อนลวก หากรักษาไม่ถูกต้อง อาจถึงตายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะสำแดงลำลาบเพลิงต่อไป ลักษณลำลาบเพลิงนั้น ให้ผุดขึ้นมาเปนแผ่น ให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะ เชื่อมมัวไป ทำพิศม์ต่าง ๆ วางยาไม่ดีน้ำเหลืองแตกตาย ..."
ไข้สังวาลพระอินทร์น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงขึ้นเป็นแถว พาดเฉียงบ่า ทำให้มีอาการหอบ สะอึก สะบัดร้อนสะท้านหนาว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้สังวาลพระอินทร์ มีลักษณสัณฐานผุดขึ้นเปนเมดแดง ๆ เปนแถว ถ้าหญิงขึ้นซ้าย ถ้าชายขึ้นขวา สะภายแล่งคล้ายสังวาล ให้เปนพิศม์จับหอบแลสะอึก ให้สบัดร้อน สบัดหนาว ถ้าแพทย์จะแก้ ให้ประกอบยาให้จงหนัก จะได้สักส่วนหนึ่งจะเสียสักสามส่วน ..."
ไข้สามฤดูดู ไข้เปลี่ยนฤดู
ไข้สายฟ้าฟาดน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นเป็นริ้วสีแดง สีเขียว หรือสีดำ พาดลงมาตามตัว ทำให้มีไข้สูง ร้อนในกระหายน้ำ ปากขม ปากฟันแห้ง เชื่อมมัว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณ ไข้สายฟ้าฟาด ให้ผุดเปนริ้วลงมาตามตัวนิ้วหนึ่งสองนิ้ว ตามตัวแดงดังผลตำลึงสุกก็มี เขียวดังสีครามก็มี ดังสีผลว่าสุกก็มี ดังศีมินม่อก็มี เปนริ้วลงมาตามตัวผุดทั้งหน้าทั้งหลัง ทำพิศม์ร้อนในกระหายน้ำ ให้ปากขมปากแห้งฟันแห้ง ให้ร้อนเปนเปลวไปทั้งตัว ให้เชื่อมมัวเปนกำลังไม่มีสะติสมประดี ให้สลบลักษณไข้สายฟ้าฟาด ดังนี้ให้แพทย์เร่งแก้ให้จงดี จะได้สักส่วนหนึ่ง ตายสามส่วนบอกให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้สุริยสูตรน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง มือเท้าเย็น เชื่อมมัว ไม่มีสติ ตัวแข็งเหมือนท่อนไม้ หอบ สะอึก เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ไข้นี้จะกำเริบทำให้หมดสติ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้สุริยสูตร ลักษณอาการ เหมือนกันกับไข้จันทรสูตร ผิดกันแต่ลักษณพระอาทิตย์ ขึ้นแล้วทำพิศม์มากขึ้น จนพระอาทิตย์ตกลางทีให้สลบ บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไขเสนียดดู น้ำครำ
ไข้หงส์ระทดน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง มือเท้าเย็น ผิวหนังเกรียม ตัวแข็งเหมือนท่อนไม้ เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบ สะอึก เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗-๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนีจะว่าด้วยไข้หงษ์รทด ให้จับเท้าเย็นตัวร้อนเปนเปลวเท้าเย็นมือเย็นให้เชื่อมมัว ไม่มีสติสมประดีให้หอบให้สอึก จับตัวแฃงไปเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ให้ลิ้นกระด้างคางแขงจับไม่เปนเวลา แต่ว่าไม่ผุดให้ตัวเกรียม ทั้งตัวถ้าแพทย์ผู้มีสติปัญญาจะแก้ได้ จะเสียส่วนหนึ่งรอดส่วนหนึ่ง ..."
ไข้หวัดน้อยน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอากรไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะมาก ไอ จาม มีน้ำมูก เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๑] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าคนทั้งหลายใดเมื่อจะบังเกิดไข้เปนหวัดนั้น ให้สะบัดร้อนสท้านหนาว ปวดศีสะเปนกำลัง ระวิงระไวไอจาม ให้จ้ำหมูกตก ลักษณอันหนึ่งเปนลักษณอันนี้ ไข้เพื่อหวัดน้อยอันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้น ไม่กินยาก็หายอาบน้ำก็หายใน ๓ วัน ๕ วัน ..." , ปัจจุบันเรียก ไข้หวัด
ไข้หวัดใหญ่น. โรคนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะมาก ไอ จาม มีน้ำมูกมาก อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง เปรี้ยวปาก ขมปาก กินข้าวไม่ได้ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๑] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าคนไข้ทั้งหลายใด เมื่อจะเปนไข้นั้น ชื่อว่าหวัดใหญ่ ให้จับสบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะให้ไอให้จาม น้ำหมูกตกเปนกำลัง ให้ตัวร้อนให้อาเจียน ให้ปากแห้งปากเปรี้ยวปากขมกินเข้าไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอเปนกำลังแลทำพิศม์ ฅอแห้งปากแห้งเพดานแห้งจะหมูกแห้งน้ำหมูกแห้งไม่มี บางทีกระทำให้น้ำมูกไหล บางทีแปรไปให้ย้อนเปนกำลัง เหตุดังนี้เพราะว่ามันสมองนั้นเหลว ออกไปหยดออกจากนาศิกทั้งสองข้าง หยอดลงไปปะทะกับสอเสมหะจึ่งให้ไอไปแก้มิฟัง ..."
ไข้หัดดู ไข้ออกหัด
ไข้หัดหลบในดูใน ไข้ออกหัด
ไข้หัวลมดู ไข้เปลี่ยนฤดู (โบราณมักใช้เรียกไข้เปลี่ยนฤดูที่เกิดในช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว)
ไข้เหือดดู ไข้ออกเหือด
ไข้แหงนน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ชักจนอกแอ่น ตำราว่าแพทย์มีเวลาเพียง ๑ วัน ที่จะรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยมีอาการตัวแอ่นมากจนเส้นท้องขาด ก็จะตายดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๘] ตอนหนึ่งว่า "... ไข้แหงนนั้นให้จับชักแอ่นเข้า จนเส้นท้องขาดตาย ไข้สองประการนี้มีอายุ ที่แพทยจะแก้ได้นั้นแต่วันเดียว ..."
ไข้ออกหัดน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะ หลังจากนั้นจะมีเม็ดคล้ายเม็ดทรายยอดแหลมผุดขึ้นทั่วตัว หากไม่มีเม็ดยอดผุดขึ้นมาโบราณเรียก หัดหลบ หรือไข้หัดหลบใน ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหหนึ่งว่า "... ทีนี้จะแสดงไข้ออกหัดออกเหือดต่อไป ให้จับสท้านร้อนสท้านหนาวให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีศะวันหนึ่งสองวัน ผุดขึ้นมาเปนเม็ดทราย ไปทั่วทั้งตัวมียอดแหลม ๆ ถ้าหลบเข้าในท้องให้ลง ลักษณหัดเหือดมีลักษณคล้ายคลึงกัน บอกไว้ให้พึงรู้ ..." , ไข้หัด ก็เรียก
ไข้ออกเหือดน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้ออกหัด แต่เม็ดที่ผุดขึ้นทั่วตัวยอดแหลม ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะแสดงไข้ออกหัดออกเหือดต่อไปให้จับสท้านร้อนสท้านหนาวให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีศะวันหนึ่งสองวัน ผุดขึ้นมาเปนเม็ดทรายไปทั่วทั้งตัวมียอดแหลม ๆ ถ้าหลบเข้าในท้องให้ลงลักษณหัดเหือดมีลักษณคล้ายคลึงกัน บอกไว้ให้พึงรู้ ...", ไข้เหือด ก็เรียก
ไข้อิดำน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีดำขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ขนาดต่าง ๆ กัน ขึ้นทั่วทั้งตัว มีอาการตัวร้อน มือเท้าเย็น ตาแดง ปวดศีรษะ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๓] ตอนหนึ่งว่า "... แลลักษณไข้พิศม์นั้น คือ อิดำอิแดง ให้จับเท้าเย็นมือเย็นให้ตัวร้อนเปนเปลวไฟ ให้จักษุแดงดังแสงโลหิตร้อนเปนตอนเย็นเปนตอนหนึ่งมิได้เสมอกัน ลางทีจับแต่รุ่งจนเที่ยง ลางทีจับแต่เที่ยงจบค่ำ ลางทีจับแต่ค่ำจนรุ่ง ลางทีให้ปวดศีศะให้ผุดเป็นแผ่นนิ้วหนึ่งก็มีสองนิ้วก็มี เท่าใบพุดทราก็มี ลางทีผุดขึ้นมาเท่าใบเทียนก็มีทั่วทั้งตัว แดงก็มีดำก็มี แดงนั้นเบากว่าดำ ...", ไข้อีดำ ก็เรียก
ไข้อิแดงน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีแดงขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ขนาดต่าง ๆ กัน ขึ้นทั่วทั้งตัว มีอาการคล้ายไข้อิดำ แต่รุนแรงน้อยกว่า ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๓] ตอนหนึ่งว่า "... แลลักษณไข้พิศม์นั้น คืออิดำอิแดง ให้จับเท้าเย็นมือเย็นให้ตัวร้อนเปนเปลวไฟใหจักษุแดงดังแสงโลหิตร้อนเปนนตอนเย็นเปนตอน หนึ่งมิได้เสมอกัน ลางทีจับแต่รุ่งจนเที่ยง ลางทีจับแต่เที่ยงจบค่ำ ลางทีจับแต่ค่ำจนรุ่ง ลางทีให้ปวดศีศะให้ผุดเป็นแผ่นนิ้วหนึ่งก็มีสองนิ้วก็มี เท่าใบพุดทราก็มี ลางทีผุดขึ้นมาเท่าใบเทียนก็มีทั่วทั้งตัว แดงก็มีดำก็มี แดงนั้นเบากว่าดำ ...", ไข้อีแดง ก็เรียก
ไข้อีดำดู ไข้อิดำ
ไข้อีแดงดู ไข้อิแดง

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒


อ่านต่อ...

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 3)

ไข้ประดงแรดดู ประดงแรด
ไข้ประดงลมดู ประดงลม
ไข้ประดงลิงดู ประดงลิง
ไข้ประดงวัวดู ประดงวัว
ไข้ป่าน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงมากเป็นเวลา ส่วนใหญ่มักมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศีรษะ มือและเท้าเย็น มีเหงื่อออกมาก กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หากเป็นติดต่อกันหลายวันไม่หาย ผู้ป่วยจะซีด เบื่ออาหาร ตับโต ม้ามโต เป็นต้น โบราณเรียก ไข้ป่า เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นโรคนี้หลังกลับออกมาจากป่า, ไข้จับสั่น ไข้ดอกสัก หรือไข้ดอกบวบ ก็เรียก
ไข้ป้างดู ป้าง
ไข้ปานดำน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นคล้ายปานสีดำ ขนาดต่าง ๆ กันผุดขึ้นมา มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ บางครั้งอาจมีอาการมือเท้าเย็น หรือลิ้นกระด้างคางแข็ง หากผื่นนี้ผุดขึ้นทั่วตัว อาจทำให้ตายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณปานดำปานแดงนั้น ให้จับเท้า มือเย็น ลางทีให้เท้าร้อนมือร้อนให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้ปวดศีศะให้จักษุแดงเปนสายโลหิต ให้ร้อนในอก ให้เชื่อมให้มัว ลางทีพิศม์กะทำภายในยากะทุ้งไม่ออก ให้ร้อนในกระหายน้ำ ลางทีให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ผุดออกเท่าวงสะบ้ามอนบ้าง เท่าใบพุดทราบ้าง เท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วบ้าง ให้แพทย์รักษาให้รวังให้จงได้ ปานแดงนั้นเบากว่าปานดำ บอกไว้ให้พึงรู้ถ้าขึ้นครึ่งตัวรักษารอดบ้างตายบ้าง ถ้าขึ้นทั้งตัวศีดังผลตำลึงสุก ศีดังผลว่าสุก ศีดังคราม ศีดำดังหมึกลักษณดังนี้ตาย ..."
ไข้ปานแดงน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นคล้ายปานสีแดง ขนาดต่าง ๆ กันผุดขึ้นมา มีอาการคล้ายไข้ปานดำ แต่รุนแรงน้อยกว่า ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณปานดำปานแดงนั้น ให้จับเท้า มือเย็น ลางทีให้เท้าร้อนมือร้อนให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้ปวดศีศะให้จักษุแดงเปนสายโลหิต ให้ร้อนในอก ให้เชื่อม ให้มัว ลางทีพิศม์กะทำภายในยากะทุ้งไม่ออก ให้ร้อนในกระหายน้ำ ลางทีให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ผุดออกเท่าวงสะบ้ามอนบ้าง เท่าใบพุดทราบ้าง เท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วบ้าง ให้แพทย์รักษาให้รวังให้จงได้ ปานแดงนั้นเบากว่าปานดำ บอกไว้ให้พึงรู้ ถ้าขึ้นครึ่งตัวรักษารอดบ้างตายบ้าง ถ้าขึ้นทั้งตัวศีดังผลตำลึงสุก ศีดังผลว่าสุก ศีดังคราม ศีดำดังหมึกลักษณดังนี้ตาย ..."
ไข้เปลวไฟฟ้าน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง ทำให้ใบหน้า จมูก อก และลิ้น เป็นสีดำ ปาก ลิ้น และฟันแห้ง เพดานปากลอก หมดสติ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕-๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะกล่าวด้วยลักษณไข้เปลวไฟฟ้าถ้าทำพิศม์ให้ร้อน เปนกำลังให้ร้อนเปนเปลวจับเอาหน้าดำ จะมูกดำอกดำสีเปนควันให้ปากแห้งลิ้นแห้งฟันแห้งให้ปากแตกระแหง ลิ้นแตกระแหงลิ้นดำเพดานลอกให้สลบ ไม่รู้จักสะติสมประดี ถ้าอาการเหมือนกล่าวมานี้จะรอดสักส่วนหนึ่ง ตายสักสี่ส่วน ..."
ไข้เปลี่ยนฤดูน. โรคชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของแต่ละฤดู ผู้ป่วยมักมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว กระหายน้ำ เป็นต้น ในทางการแพทย์แผนไทยอาจแบ่งโรคนี้ตามฤดูกาลเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ไข้ในฤดูร้อน ไข้ในฤดูฝน และไข้ในฤดูหนาว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑๕/๓๕๖] ตอนหนึ่งว่า "... พระอาจารย์เจ้าจะแสดงซึ่งไข้ทั้งสามสืบต่อไป แลไข้ในคิมหันตฤดูนั้นคือ เดือน ๕, เดือน ๖, เดือน ๗, เดือน ๘ เป็นไข้เพื่อโลหิตเป็นนใหญ่กว่าลมกว่าเสมหะทั้งปวงทุกประการ ไข้ในวัสสานะฤดูนั้นคือเดือน ๙, เดือน ๑๐, เดือน ๑๑, เดือน ๑๒ นี้ ไข้เพื่อลมเป็นใหญ่กว่าเลือด และเสมหะทั้งปวงทั้งสองประการ ไข้ในเหมันตฤดูนั้นคือ เดือน ๑-๒-๓-๔ นี้ไข้เพื่อกำเดาและเพื่อดีพลุ่ง เป็นนใหญ่กว่าเสมหะ แลลมทั้งสองประการ อาการมีต่าง ๆ ให้นอนละเมอฝันร้ายแลเพ้อไป ย่อมเป็นหวัด มองคร่อหิวหาแรงมิได้ ให้เจ็บปาก ให้เท้าเย็น, มือเย็นแลน้ำลายมากแลกระหายน้ำเนือง ๆ แลให้อยากเนื้อพล่า ปลายำสดคาว ให้อยากกินหวาน, กินคาว มักให้บิดขี้เกียจคร้าน มักเป็นฝีพุพองเจ็บข้อเท้าข้อมือ ย่อมสะท้านหนาวดังนี้ ท่านให้วางยาอันร้อนจึงชอบโรคนั้นแล ...", ไข้ตามฤดู ไข้สามฤดู ไข้หัวลม หรืออุตุปริณามชาอาพาธา ก็เรียก
ไข้พิษไข้กาฬน. โรคกลุ่มหนึ่งที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อนจัด ปากแห้ง ฟันแห้ง น้ำลายเหนียว ตาแดง ร้อนในกระหายน้ำ มือเท้าเย็น มีเม็ดสีดำ แดงหรือเขียว ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างผุดขึ้นตามร่างกาย ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๒๑ ชนิด โดยเรียกชื่อแตกต่างกันตามลักษณะอาการ เช่น ไข้อีดำ ไข้อีแดง ไข้ปานดำ ไข้ปานแดง ไข้รากสาด ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๑] ตอนหนึ่งว่า "... เมื่อผู้เป็นเจ้าจะสะแดงเพศไข้พิศม์ไข้เหนือและไข้กาล ให้คนทั้งหลายรู้ประจักษคืออันใดที่จะเป็นไข้พิศม์นั้นเปนต้น ไข้อิดำอิแดง ไข้ปานดำปานแดง ไข้ลากสาดไข้สายฟ้าฟาด ไข้ระบุชาติไข้กะดานหิน ไข้สังวาลพระอินทรไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล ไข้เข้าไหม้ใหญ่ ไข้เข้าไหม้น้อย ไข้เข้าใบเตรียม ไข้ไฟเดือนห้าไข้เปลวไฟฟ้า ไข้หงษระทศ ไข้ดาวเรือง ไข้จันทรสูตร ไข้สุริยสูตร ไข้เมฆสูตร ว่าดังนี้คนทั้งลหายจึงกราบทูล ว่าข้าแต่ผู้เปนเจ้าจะได้โปรดสัตวทั้งหลายให้อายุยืนยาวไปข้างน่านั้น ขอผู้เปนเจ้าโปรดให้ ฯข้าฯ ทราบอาการไข้เพศไข้ ลักษณไข้ทุกประการ ..."
ไข้ไฟเดือนห้าน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีดำ หรือสีแดงขึ้นที่หน้าอก ทำให้มีอาการร้อนในอกมาก ร้อนในกระหายน้ำ เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าดัวยลักษณไข้ ไฟเดือนหน้าถ้าทำพิศม์ให้ร้อนในอกเปนกำลัง ให้ผุดขึ้นที่อก ดำก็มีแดงก็มี สีดังเปลวไฟให้ร้อนในให้กระหายน้ำ ให้เชื่อมมัวไม่มีสะติสมประดี ให้ลิ้นกระด้างคางแขงให้สลบ จึ่งบอกให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้ไฟลามทุ่งน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ เชื่อมมัว ผิวหนังมีผื่นผุดขึ้นเป็นแผ่น ๆ มีลักษณะคล้ายไข้ลำลาบเพลิง แต่อาการของโรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว เหมือนไฟลามทุ่ง ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๔] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไฟลามทุ่ง อาการก็เหมือนกัน กับลำลาบเพลิงเหมือนกัน ..."
ไข้มหานิลน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มหรือเม็ดขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง เห็นเป็นเงาสีน้ำเงินเข้ม (เหมือนสีนิล) อยู่ในเนื้อ มีอาการคล้ายกับไข้มหาเมฆ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔-๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณมะหาเมฆมหานิลต่อไป ถ้าว่าผุดขึ้นในเนื้อยังไม่ขึ้นหมด มีสัณฐานเท่าผลจิ่งจ้อสุกก็มี เปนเงาอยู่ในเนื้อยังมิขึ้นหมด ผุดทั้งตัวก็มีศีดำดังเมฆศีดำนิลกระทำพิศม์จับเชื่อมมัว ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สอึกไม่เปนสมประดี ให้ปากแห้งฟันแห้ง ให้ถ่ายอุจาระปะสาวะ ไม่รู้ตัวไม่รู้สึกว่าดีว่าชั่วให้เชื่อมมัวไปไม่เปนเวลา ให้สลบ ให้แพทย์พิจารณารักษาให้เลอียด ตายสามส่วนรอดส่วนหนึ่ง ..."
ไข้มหาเมฆน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีตุ่มหรือเม็ดขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง เห้นเป็นเงาสีดำอยู่ในเนื้อ ทำให้มีอาการเชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบสะอึก ปากฟันแห้ง ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่รู้สึกตัว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔-๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณมะหาเมฆมหานิลต่อไป ถ้าว่าผุดขึ้นในเนื้อยังไม่ขึ้นหมด มีสัณฐานเท่าผลจิ่งจ้อสุกก็มี เปนเงาอยู่ในเนื้อยงมิขึ้นหมด ผุดทั้งตัวก็มีศีดำดังเมฆศีดำนิล กระทำพิศม์จับเชื่อมมัว ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สอึกไม่เปนสมประดี ให้ปากแห้งฟันแห้ง ให้ถ่ายอุจาระปะสาวะไม่รู้ตัวไม่รู้สึกว่าดีว่าชั่วให้เชื่อมมัวไปไม่เปนเวลา ให้สลบ ให้แพทย์พิจารณารักษาให้เลอียด ตายสามส่วนรอดส่วนหนึ่ง ..." , เขียนว่า ไข้มหาเมฆ ก็มี
ไข้มะหาเมฆดู ไข้มหาเมฆ
ไข้เมฆสูตร[-เมกคะสูด] น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้สุริยสูตร แต่แตกต่างกันที่ไข้จะกำเริบทำให้หมดสติเมื่อเกิดพายุฝน ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้เมฆสูตร ลักษณอาการเหมือนไข้สุริยะสูตรแต่ผิดกันบ้างเกิดพยุฟ้าพะยุฝน เมฆตั้งขึ้นทั่วทิศกระทำพิศม์ให้สลบไข้สามประการนี้ บอกให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้ระบุชาติน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงผุดขึ้นตามร่างกาย ทำให้เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ หอบสะอึก ตำราว่าไข้ประเภทนี้รักษายาก ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ระบุชาตผุดเปนเม็ดเท่าเม็ดผักปลังก็มี เท่าเม็ดเทียนก็มี เท่าเม็ดงาก็มี เปนเหล่ากันอยู่เดิมเท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วก็มี ศีดังชาตยอดถานทั่วทั้งตัว กระทำพิศม์ให้จับเชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ให้หอบสอึกกระทำพิศม์ต่าง ๆ ถ้าผู้จะเปนแพทย์รักษาโรคดีรอดบ้างตายบ้าง ถ้ารักษาไม่ดีตายหมดบอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดน. ไข้กาฬกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวร้อนจัด มือเท้าเย็น ปวดศีรษะมาก ตาแดง เพ้อ มือกำเท้ากำ ตาเหลือตาซ้อน หรืออาจมีอาการตัวเย็น เงหื่อออกมากแต่ร้อนภายใน หอบ สะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เชื่อมมัว ไม่มีสติ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งไข้รากสาดออกเป็น ๙ ชนิด เรียกชื่อแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่ปรากฎให้เห็นทางผิวหนัง ได้แก่ ไข้รากสาดปานแดง ไข้รากสาดปานดำ ไข้รากสาดปานเขียว ไข้รากสาดปานเหลือง ไข้รากสาดปานขาว ไข้รากสาดปานม่วง ไข้รากสาดนางแย้ม ไข้รากสาดพะนันเมือง และไข้รากสาดสามสหาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘-๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้กาลไข้ลากสาดมีเก้าประการ ให้เท้าเย็นมือเย็น ให้ตัวร้อนเปนเปลวไฟ ให้ปวดศีศะเปนกำลัง ให้จักษุแดงเปนโลหิต ให้จับเพ้อพกให้ร่ำรี้ร่ำไร เปนปีสาจ์เข้าอยู่ ให้ชักมือกำเท้ากำจักษุเหลือกจักษุช้อนให้ร้อนเปนตอน เย็นเปนตอนลางทีจับเหมือนหลับ จับตัวเย็นให้เหื่อตก เอาผ้าบิดออกได้แต่ร้อนในอกเปนกำลัง ให้หอบให้สอึกลิ้นกระด้างคางแฃง ให้จับเชื่อมมัวไม่สะติสมประดี ลางทีกระทำพิศม์ภายในให้ลงเปนโลหิต ไอเปนโลหิตให้อาเจียนเปนโลหิตเปนเสมหะ โลหิตเหน้าก็มีผุดขึ้นมา เหมือนลายต้นกระดาษก็มี ผุดขึ้นมาเปนทรายขาวทั้งตัวก็มี ลายเหมือนงูลายสาบก็มี ลายเหมือนลายเลือดก็มี ลายเหมือนดีบุกก็มี ...", ไข้ลากสาด ก็เรียก
ไข้รากสาดนางแย้มน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มขนาดแตกต่างกันผุดขึ้นติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ถ้าขึ้นทั่วทั้งตัวจะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดนางแย้ม ผุดขึ้นมาเปนเมดเล็ก ๆ เท่านิ้วหนึ่ง สองนิ้ว สามนิ้ว มีสัณฐานดังดอกนางแย้มทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดนางแย้ม บอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานขาวน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีขาวผุดขึ้นเป็นวง ขนาดเท่าผลพุทรา ถ้าขึ้นทั่วทั้งตัวจะตาย ดังคัมภีร์ตตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดปานฃาว ผุดขึ้นมาเปนวงเท่าผลพุทรา ฃาวเหมือนศีน้ำเข้าเชดผุดขึ้นทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานขาว บอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานเขียวน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีคราม ขนาดแตกต่างกัน ผุดขึ้นเป็นกลุ่มตามผิวหนัง ถ้าเป็นทั่วทั้งตัวและลิ้นเป็นสีคราม ผู้ป่วยนั้นจะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดปานเขียวผุดขึ้นมาเปนนหมู่ โตหนึ่งนิ้ว สองนิ้ว สามนิ้ว ก็มี เขียวดังศีครามลิ้นก็เขียวผุดขึ้นทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานเขียวบอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานดำน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ ผุดขึ้นมาเป็นวง ๆ ตามตัว ลิ้นจะเป็นสีดำ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ ลากสาดปานดำ ลักษณผุดขึ้นมาเท่าแว่นน้ำอ้อยดำดังนิล ลิ้นดำ ผุดทั่วตัวบอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดปานแดงน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มขนาดเล็กสีแดง ผุดขึ้นเป็นกลุ่มทั่วทั้งตัว ตำราว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตาย รักษาไม่ได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ลากสาดปานแดง มีลักษณผุดขึ้นมาเปนเม็ดถั่วเล็ก ๆ แดง ๆ เปนหมู่เท่านิ้วสองนิ้วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานแดงตาย ..."
ไข้รากสาดปานม่วงน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มสีม่วงเข้มผุดขึ้นมาถ้าขึ้นทั่วทั้งตัว ผู้ป่วยนั้นจะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดปานม่วง ผุดขึ้นมาศีดุจดังผลผักปลังสุก ผุดขึ้นทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดปานม่วง บอกไว้ให้พึงรู้ตาย ..."
ไข้รากสาดปานเหลืองน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีตุ่มขนาดเล็กผุดขึ้นเป็นกลุ่มตามผิวหนังทั่วทั้งตัว ผิวและลิ้นจะเป็นสีเหลือง ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ลากสาดปานเหลืองให้ผุดขึ้นมาเปนเมดเล็ก ๆ โตเท่านิ้วหนึ่งสองนิ้วสามนิ้ว แต่ผิวนั้นเหลืองลิ้นเหลือง ชื่อว่าลากสาดปานเหลือง บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดพะนันเมืองน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผิวหนังนูนขึ้นเป็นแถบสีดำขนาดต่าง ๆ กันทั่วทั้งตัว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดพะนันเมือง เปนหมู่เปนริ้วขึ้นมาเหมือนตัวปลิง โตนิ้วหนึ่ง สองนิ้ว สามนิ้ว ดำเหมือนมินม่อไปทั่วทั้งตัว ชื่อว่าลากสาดพะนันเมือง บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้รากสาดสามสหายน. ไข้รากสาดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงเป็นกลุ่มเล็ก ๆ (ขยุ้ม) คล้ายตีนสุนัขผุดขึ้นทั่วทั้งตัว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๙] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้ลากสาดสามสหาย ให้ผุดขึ้นมาเปนเม็ด ๆ เหมือนเท้าสุนักข์มีศีแดงทั่วทั้งตัว เรียกว่าลากสาดสามสหาย บอกไว้ให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้รำเพรำพัดน. โรคชนิดหนึ่ง มักไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น อาจมีไข้ จุกเสียดในท้อง อาเจียน ละเม้อเพ้อพก ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๑๘๐] ตอนหนึ่งว่า "... ถ้าไข้รำเพรำพัด คือให้รากให้จุกในอุทร แลให้แดกขึ้นแดกลงเป็นกำลัง แลให้มะเมอเพ้อพกดังผีเข้าแพทย์ไม่รู้ว่าเปนไข้สันนิบาตนั้นหามิได้เลย ...", ไข้ลมเพลมพัด รำเพรำพัด หรือลมเพลมพัด ก็เรียก
ไข้เริมน้ำข้าว, ไข้เริมน้ำเข้าน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะ ผิวหนังมีเม็ดเล็ก ๆ ผุดเรียงตัวกันแน่นจนเห็นเป็นแผ่นเดียวกัน หลายกลุ่ม ภายในมีน้ำขุ่น ๆ (เรียก เริมน้ำเข้า หรือ เริมน้ำข้าว) ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เริมน้ำค้าง เริมน้ำเข้านั้นต่อไป มีลักษณให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้จับเชื่อมมัวแล้วให้ปวดศีศะ แล้วให้ผุดขึ้นมาเปนแผ่นนิ้วหนึ่งสองนิ้วสามนิ้วสี่นิ้ว เปนเหล่า ๆ กัน น้ำใสเขาเรียกว่าเริมน้ำค้าง ถ้าน้ำขุ่นเขาเรียกว่าเริมน้ำเข้า ให้เร่งประทับยา บอกไว้ให้พึงรู้ ..."

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒


อ่านต่อ...

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 2)

ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียมน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงขึ้นทั่วตัว เม็ดอาจเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทำให้มีอาการปวดในเนื้อในกระดูก ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบ สะอึก หมดสติ เป็นต้น เมื่อไข้หายแล้วเม็ดจะเปลี่ยนเป็นริ้วสีดำ ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ถ้าเม็ดที่ขึ้นลามไปที่ตับหรือปอด จะทำให้ผู้ป่วยตายทุกราย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เข้าไหม้ใบเตรียม ให้จับสบัดร้อนสบัดหนาว ให้ปวดศีศะเปนกำลัง ให้จักษุแดงเปนแสงโลหิตให้ร้อนเปนกำลัง ให้มือเย็น เท้าเย็น ให้เจบในเนื้อ ในกระดูก ทำพิศม์ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบ ให้สอึก ให้สลบ แล้วให้ผุดขึ้นมาทั้งตัวให้ปวดในเนื้อ ในกระดูก ผุดขึ้นมาดังลมพิศม์ แดงดังผลตำลึงสุก เปนแผ่นทั่วทั้งตัวใหญ่เท่านิ้วหนึ่ง สองนิ้ว สามนิ้ว ก็มี เปนเมดเล็ก ๆ เหมือนมดกัดก็มี แล้วกลับไปดำอยู่ ถ้าแพทย์จะแก้ดี จะรอดได้สักหนึ่งส่วน จะเสียสักสามส่วน คลายจากพิศม์สง ขึ้นเปนทิวผุดนั้นกลับดำเปนหนังแรด อยู่หกเดือนตายลงกินตับกินปอดขาดออกมาตาย ร้อยคนไม่รอดสักคนหนึ่ง ..." , ไข้เข้าไหม้ใบเกรียม หรือไข้เข้าไหม้ใบเตรียม ก็เรียก
ไข้ข้าวไหม้ใหญ่น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดเล็ก ๆ ที่มียอดแหลมสีขาว ๆ ขึ้นเป็นแผ่นทั่วตัว ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายคลึงกับไข้ข้าวไหม้น้อย แต่รุนแรงกว่า นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดศีรษะมาก ตาแดง มือเท้าเย็น เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้เฃ้าไหม้ใหญ่ ให้จับสบัดร้อนน สท้านหนาว ให้ปวดศีศะเปนกำลังให้จักษุแดงเปนแสงโลหิต ให้เท้าเย็นมือเย็นให้เจบในเนื้อ ในกระดูก ทำพิศม์ ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัดเปนแผ่นทั่วตัวมียอดแหลมขาว ๆ ถ้าแพทย์จะแก้ให้เร่งประทับยาให้หนัก ได้บ้างเสียบ้างถ้าลอกปอกหมูออกไปตายทีเดียว ไม่รอดสักคนหนึ่ง ..." , ข้าเข้าไหม้ใหญ่ ก็เรียก
ไข้เข้าไหม้น้อยดู ไข้ข้าวไหม้น้อย
ไข้เข้าไหม้ใบเกรียม, ไข้เข้าไหม้ใบเตรียมดู ไข้ข้าวไหม้ใบเกรียม
ไข้เข้าไหม้ใหญ่ดู ไข้ข้าวไหม้ใหญ่
ไข้คดน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ชักจนตัวงอ ตำราว่าแพทย์มีเวลาเพียง ๑ วัน ที่จะรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยมีอาการตัวงอมากจนเส้นหลังขาด ก็จะตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้คดนั้น ให้จับชักงอเข้าจนเส้นหลังขาดตาย... ไข้สองประการนี้มีอายุ ที่แพทยจะแก้ได้นั้นแต่วันเดียว ..."
ไข้งูตวัดดู ไข้งูสวัด
ไข้งูสวัดน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ผิวหนังมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดทราย ภายนีน้ำใส ๆ ซึ่งต่อมาจะเป็นหนองและตกสะเก็ดในที่สุด ตุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้จะเรียงเป็นแถวลักษณะเหมือนงู ตำราว่าโรคนี้ถ้าผู้หญิงเป็นข้างซ้ายหรือผู้ชายเป็นข้างขวา จะรักษายาก และถ้าลามข้ามสันหลังไปจะรักษาไม่ได้ มักถึงตาย ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้งูสวัดต่อไป ลางทีให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะลางทีก็ไม่จับ เป็นเม็ดทรายขึ้นมาเปนนแถวขึ้นมามีสัณฐานดังงู เม็ดพอง ๆ เปนเงาหนองก็มี ถ้าผู้หญิงเปนซ้าย ถ้าผู้ชายเปนขวา และข้มสันหลังไป รักษาไม่ได้แต่พิศม์สงร้อนดังไฟจุด บอกไว้ให้พึงรู้ ..." , ไข้งูตวัด ก็เรียก
ไข้จันทรสูตร[-จันทะสูด] น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง มือเท้าเย็น เชื่อมมัว ไม่มีสติ ตัวแข็งเหมือนท่อนไม้ หอบสะอึก เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ไข้นี้จะกำเริบทำให้หมดสติเมือ่พระจันทร์ขึ้นดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้จันทรสูตร ให้จับเท้าเย็นตัวร้อนเป็นเปลว เท้าเย็นมือเย็นให้เชื่อมมัว ไม่มีสะติสมประดีให้หอบให้สอึก จับตัวแขงไปเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ให้ลิ้นกระด้าง คางแขง จับไม่เปนเวลา แต่ว่าไม่ผุด ต่อพระจันทรขึ้นทำพิศม์ให้สลบ ถ้าพระจันทรไม่ขึ้น พิศม์ถอยลงบอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้จับโปงดูใน จับโปงน้ำ
ไข้จับสั่นดู ไข้ป่า (โบราณเรียกเช่นนี้เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการหนาวสั่น)
ไข้เจลียงน. โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้วันเว้นวัน ในทางการแพทย์แผนไทย มีหลายชนิด ได้แก่ ไข้เจลียงอากาศ ไข้เจลียงพระสมุทร ไข้เจลียงไพร
ไข้เจลียงพระสมุทรน. ไข้เจลียงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการเมื่อยขบตามข้อกระดูก หนาวสะท้าน หอบ ร้อนในกระหายน้ำ เท้าเย็นขึ้นไปถึงน่อง เสียวไปทั้งตัว ปวดศีรษะ กินอาหารไม่ได้ ดังจารึกตำรายาวัดราชโรสารามราชวรวิหาร [๕/๑๔๖] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณะไข้เจลียงพระสมุทรนั้น เมื่อจะจับให้เมื่อยขบทุกข้อกระดูก ให้หนาวสะท้านให้หอบให้ร้อนกระหาย ให้ตีนเย็นถึงน่อง ให้เสียวไปทั้งกาย ให้ปวดศีรษะเป็นกำลัง กินอาหารมิได้ ให้ละอองตีนมือนั้นขาว โทษเสมหะเป็นกำลัง ฯ ..."
ไข้เจลียงไพรน. ไข้เจลียงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ หนาวสั่นและร้อนกระหายน้ำสลับไปมา ปัสสาวะแดง มือแดง เดินไม่สะดวก อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย ดังจารึกตำรายาวัดราชโรสารามราชวรวิหาร [๕/๑๕๒] ตอนหนึงว่า "... ลักษณะไข้เจลียงไพรนั้น กระทำอาการดุจปีศาจเข้าสิงมักขึ้งโกรธ เมื่อจับนั้นให้สะท้านหนาวสั่นยิ่งนัก ให้ร้อนกระหายน้ำนักให้ปัสสาวะแดงเดินมะได้สะดวก ให้ละอองตีนมือนั้นแดง โทษดีเป็นกำลัง ฯ ..."
ไข้เจลียงอากาศน. ไข้เจลียงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการหนาวสะท้าน เท้าเย็น ร้อนใน กระหายน้ำ อุจจาระปัสสาวะไม่ออก ดังจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร [๕/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณะไข้เจลียงอากาศนั้นให้จับสะท้าน ให้เท้าเย็น ให้ร้อนในอกเป็นกำลังให้กระหายน้ำนัก ให้ขัดอุจจาระปัสสาวะ ๑ ให้ละอองตีนมือนั้นเขียว ให้ตาขลัว น้ำตาแห้ง โทษสันนิบาต ๒ เป็นกำลัง ฯ ..."
ไข้ดอกบวบดู ไข้ป่า
ไข้ดอกสักดู ไข้ป่า (โบราณเรียกเช่นนี้เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นโรคนี้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกสักบาน)
ไข่ดันน. ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใต้ผิวหนังของบริเวณขาหนีบทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งเป็นแนวต่อระหว่าง ลำตัวกับต้นขา ทำหน้าที่กัดและทำลายเชื้อโรคที่อาจผ่านเข้ามาในร่างกายท่อนบน, ฟองดัน ก็เรียก
ไข้ดานหิน, ไข้ดารหินน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นผุดขึ้นมาเป็นวงที่ต้นขาทั้ง ๒ ข้าง ผื่นที่ผุดขึ้นมาอาจมีสีเขียว สีคราม สีแดง หรือสีดำ ก็ได้ ทำให้มีไข้ (แต่ตัวเย็น) ร้อนในกระหายน้ำ ลิ้นกระด้างคางแข็ง ปากคอแห้ง เชื่อมมัว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๔] ตอนหนึ่งว่า "... ดทีนี้จะว่าด้วยลักษณดารหิน ขึ้นต้นขาทั้งสองข้างเปนวงเขียวก็มี เปนผลศีว่าศีคราม ศีผลตำลึงสุกศีหมึก ลักษณไข้จับให้ ตัวเย็นดังหิน ให้ร้อนในให้กระหายน้ำทำพิศม์ ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้ปากแห้งคอแห้ง ฟันแห้ง เชื่อมมัวทำพิศม์จนสลบ ให้เร่งรักษาแต่ยังอ่อน ถ้าเปื่อยลอกออกไปอย่ารักษาเลยอาการนั้นตัดใน ๓ วัน ๗ วัน แพทย์จะแก้ได้แต่ยังไม่ลอกออกไป บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไข้ดาวเรืองน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดผุดขึ้นมาเหมือนลายโคมจีนครึ่งลูก ทำให้มีไข้สูง แต่มือเท้าเย็น ตาแดง ปวดศีรษะ อาเจียน เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ หอบสะอึก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ผู้ป่วยโรคนี้บางรายอาจรักษาให้หายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ดาวเรือง ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้จักษุแดงเปนแสงโลหิต ให้ปวดศีษะเปนกำลัง ดังว่าจักษุแดงจะแตกออกมา ให้อาเจียนเปนกำลัง ให้เชื่อมมัวร้อนในกระหายน้ำให้หอบสอึกให้ลิ้นกระด้างคางแขง ลางทีทำพิษถึงสลบ ให้ผุดขึ้นเปนเหมือนลายโคมครึ่งลูก ถ้าแก้ดีได้ส่วนหนึ่งเสียส่วนหนึ่ง บอกให้แพทยพึงรู้ ..."
ไข้ตรีโทษน. ความเจ็บป่วยอันเกิดจากกองสมุฏฐานปิตตะ วาตะ และเสมหะ ร่วมกันกระทำให้เกิดโทษ
ไข้ตามฤดูดู ไข้เปลี่ยนฤดู
ไข้ประกายดาษน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดผุดขึ้นทั่วตัวเหมือนฝีดาษ มีไข้สะบัดร้อนสะท้านหนาว มือเท้าเย็น ปวดศีรษะ ตาแดง เชื่อมมัว ปวดในเนื้อ ในกระดูก ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบสะอึก เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๒] ตอนหนึ่งว่า "... ผู้เปนเจ้าจะแสดงคือประกายดาษนั้น มีลักษณไข้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้จับเท้าเย็นมือเย็น ให้ปวดศีศะให้จักษุแดง เปนแสงโลหิต ให้เชื่อมมัวเปนนกำลัง ให้ปวดกระดูก ให้ปวดในเนื้อ กระทำลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สอึกผุดขึ้นมา เหมือนเม็ดฝีดาษทั่วตัว ทำพิศม์ให้สลบ บอกให้แพทย์พึงรู้ ให้เร่งวางยาให้จงดีแก้ไม่ดีตาย ..."
ไข้ประกายเพลิงน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้ประกายดาษ แต่มีอาการรุนแรงกว่า เช่น ไข้สูง เม็ดที่ผุดขึ้นมีขนาดใหญ่ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๒] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้ประกายเพลิงต่อไป อาการนั้นเหมือนประกายดาษ แต่เม็ดผิดกันเม็ดใหญ่เท่าเม็ดเทียน เท่าเม็ดทรายขึ้นทั่วตัว ร้อนเปนไฟหัวนั้นให้ร้อนดังไฟลวก ทำพิศม์ทำสงเปนกำลัง ..."
ไข้ประดงดู ประดง
ไข้ประดงควายดู ประดงควาย
ไข้ประดงช้างดู ประดงช้าง
ไข้ประดงไฟดู ประดงเพลิง, ประดงไฟ
ไข้ประดงมดดู ประดงมด
ไข้ประดงแมวดู ประดงแมว

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒


อ่านต่อ...

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 1)

ขบไหล่น. อาการปวดข้อบริเวณส่วนของบ่าตอนที่ติดกับต้นแขน
ขยำก. กำหรือบีบย้ำ ๆ แล้วคลายมือสลับกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
ขวัญน. พลังชีวิตอย่างหนึ่ง เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคน พืชบางชนิด เช่น ข้าว หรือสัตว์เลี้ยงบางชนิด เช่น ควาย ขวัญจะออกจากร่างกายเมื่อตาย แต่ในคนทั่วไป ขวัญอาจออกจากร่างได้เมื่อตกใจอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้เจ็บป่วย ต้องทำพิธีเรียกกลับมา
ขวัญกินเถื่อนน. ขวัญที่ออกไปจากร่างกาย ทำให้มีอาการสะดุ้งผวา ตกใจง่าย หรือเจ็บป่วย เป็นต้น ดังคัมภีร์ประถมจินดา [๑/๑๗๑] ตอนหนึ่งว่า "... อันลักขณะโลหิตรดูอันบังเกิดมาแต่ดี แต่ตับนั้น ถ้าสัตรีผู้ใดไข้ลง มักให้เชื่อมมึน เมามัว ซบเซามิได้รู้ว่ารุ่งค่ำคืนวัน แล้วให้นอนสดุ้ง หวาดไหวเจรจาด้วยผี สมมติวา ขวัญกินเถื่อน โทษทั้งนี้คือโลหิตกระทำเอง ..."
ขัดไหล่น. อาการรู้สึกเจ็บแปลบคล้ายมีอะไรมาเสียดแทงบริเวณส่วนของบ่าตอนที่ติดกับต้นแขน
ขันธ์น. ตัว หมู่ กอง พวก หมวด ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕, ขันโธ ก็เรียก
ขันธ์ ๕น. กองห้า กองแห่งรูปธรรม ๑ หมวด กับนามธรรม ๔ หมวด รวมเป็น ๕ หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวมเป็นชีวิต ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์, เบญจขันธ์ ก็เรียก
ขันโธดู ขันธ์
ขากรรไกรสลักเพชรดูใน สลักเพชร, สลักเพ็ด
ขื่อน. กระดูกเชิงกรานที่ขวางอยู่ด้านหน้า
เขม่า[ขะเหม่า] น. โรคเด็กชนิดหนึ่ง เกิดกับทารกที่อยู่ในเรือนไฟ (โดยทั่วไปอายุไม่เกิน ๑ เดือน) ผู้ป่วยจะมีฝ้าสีเทาแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เกิดได้ตั้งแต่หน้าอกถึงปลายลิ้น เมื่อลุกลามเข้าไปภายใน ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนอย่างแรง ท้องเสียอย่างแรงดังคัมภัร์ประถมจินดา [๑๕/๑๐๕] ตอนหนึ่งว่า "... เมื่อกุมารอยู่ในเรือนไฟนั้น ให้เป็นเขม่า ครั้นหล่นลงแล้วก็เข้าจับหัวใจแลทรวงอก จะทำให้สิปากแดงดุจดังสีชาด ไปทำน้ำรัก อันเปียก แลชาดนั้นก็ดำเป็นสีลูกหว้า แลซางอันหล่นลงมาเข้าท้องนั้นก็เข้าจับเอาหัวตับ ครั้นออกจากเรือนไฟได้ ๒ วัน ๓ วันก็ดี ได้เดือนหนึ่ง สองเดือนก็ดี เขม่านั้นจึงหล่น ในเมื่อสิ้นเขม่าแล้วซางจึงบังเกิดขึ้น ..."
เขฬะ, เขโฬน. น้ำลาย เป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๑๒ สิ่งของธาตุน้ำ
เข้ากระโจม"๑. ก. เข้าไปอบควันยาในกระโจม มักใช้กับหญิงหลังคลอด ๒. ก. เข้าไปนอนอยู่ในกระโจมหรือนอนคลุมโปง อบให้เหงื่อออก เพื่อลดไข้ ๓. น. วิธีการหนึ่งในการดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอด ด้วยการนำหม้อต้มยาสมุนไพรเข้าไปในกระโจม แล้วใช้ไอน้ำจากยาสมุนไพรอบตัวและรมใบหน้า โบราณเชื่อว่าช่วยบำรุงผิว ป้องกันการเกิดฝ้า แก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ช่วยให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น"
เข้าขื่อน. วิธีการนวดอย่างหนึ่ง ใช้กับผู้หญิงหลังคลอด เพื่อให้กระดูกเชิงกรานที่เคลื่อนออกจากกัน กลับเข้าที่ อาจทำได้ ๒ แบบ คือ แบบที่ให้ผู้ถูกนวดนอนตะแคง ส่วนผู้นวดจะยืนอยู่ด้านหลัง แล้วใช้ส้นเท้าเหยียบกระแทกเป็นจังหวะตรงข้อต่อสะโพก และแบบที่ให้ผู้ถูกนวดนอนหงายแยกขา ผู้นวดนั่งระหว่างขา มือจับขาทั้ง ๒ ข้างของผู้ที่ถูกนวด แล้วใช้อุ้งเท้าข้างที่ถนัดถีบบริเวณช่องคลอด, เหยียบขื่อ ก็เรียก ดู ขื่อ ประกอบ
เข้าตะเกียบน. วิธีการนวดอย่างหนึ่ง ใช้กับผู้หญิงหลังคลอด โดยให้ผู้ถูกนวดนอนตะแคง ขา ๒ ข้างซ้อนทับกัน ส่วนผู้นวดจะยืนคร่อมโดยหันหน้าไปทางศีรษะของผู้ถูกนวด ใช้ขาทั้ง ๒ ข้างหนีบบริเวณต้นขาและสะโพกของผู้ถูกนวด แล้วใช้ส้นมือซ้อนกัน กดขย่มบริเวณข้อต่อสะโพกเป็นจังหวะถี่ ๆ โบราณว่าจะช่วยให้ข้อต่อสะโพกที่เคลื่อนออกจากเบ้าหลังคลอดกลับเข้าสูที่เดิมได้, นวดเข้าตะเกียบ ก็เรียก ดู ตะเกียบ ประกอบ
เขี่ยก. ใช้นิ้วมือกด ดันเข้าและดันออกบริเวณส่วนของร่างกาย ได้แก่ ร่องไหปลาร้า สะบัก ข้อพับแขน/ขา ใต้ศอก หน้าแข้ง และข้อเท้า เพื่อให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยืดออกเป็นปรกติ
เขียวมหาพรหมน. ยาแผนไทยขนาดหนึ่ง ใช้แก้โลหิตพิการอันทำให้ตัวร้อนจัด มีตัวยา วิธีปรุง วิธีใช้ และสรรพคุณดังคัมภีร์ธาตุวิภังค์ [๑/๑๓๔] ตอนหนึ่งว่า "... ยาชื่อเขียวมหาพรหม สำหรับแก้โลหิตพิการ ทำพิศม์ให้ร้อนทั่วกายดังเปลวไฟให้ทุรนทุรายหาสะติมิได้ก็ดี ยานี้แก้ได้สิ้นทุกอัน ท่านให้เอาใบมูลหนอน ๑ ใบสมี ๑ ใบชิงช้าชาลี ๑ ใบมูลแหลก ๑ ใบผักเคด ๑ ใบแคแดง ๑ ใบทองหลางใบมน ๑ ใบมะเฟือง ๑ ใบภุมเรียงทั้ง ๒ ใบนมพิจิตร ๑ ใบแทงทวย ๑ ใบพริกไทย ๑ ใบน้ำเต้าขม ๑ ใบปีบ ๑ ใบมะระ ๑ ใบหญ้านาง ๑ ใบเท้ายายม่อม ๑ ใบพุงดอ ๑ ใบน้ำดับไฟ ๑ ใบระงับ ๑ ใบตำลึงตัวผู้ ๑ ใบพรมมิ ๑ ใบผักเข้า ๑ ใบหมากผู้ ๑ ใบหมากเมีย ๑ ใบภิมเสน ๑ ใบสันพร้าหอม ๑ ใบสะเดา ๑ ใบถั่วแระ ๑ ใบบระเพชร ๑ เถาวัลด้วน ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ จันทน์ขาว ๑ เอาเสมอภาคบดปั้นแท่งไว้น้ำกระสายยักใช้ควรแก่โรค ทั้งกิน ทั้งพ่น แก้โลหิตกำเริบแล ..."
ไข้"๑. น. ความเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิต เช่น ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้หวัด นอกจากนี้ ในทางการแพทย์แผนไทยยังมีไข้ตัวเย็นอันเกิดจากธาตุไฟพิการ ๒. ก. อาการครั่นเนื้อครั่นตัว สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดเมื่อย, โดยทั่วไปหมายถึงอาการที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นผิดจากระดับปรกติเนื่องจากความเจ็บป่วย"
ไข้กระดานหิน, ไข้กระดารหินน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดขึ้นทั่วตัว เมื่อแรกเกิดเม็ดนี้จะเป็นสีแดง จากนั้นเป็นสีดำติดกับเนื้อ ทำให้คัน สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะมาก ตาแดง มือเท้าเย็น เจ็บในเนื้อในกระดูก ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๖-๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้กระดานหิน ให้จับสบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะเป็นกำลัง ให้จักษุแดงเปนแสงโลหิต ให้เท้าเย็นมือเย็นให้เจ็บเนื้อในกระดูก ทำพิศม์ให้ลิ้นกระด้างคางแขง ให้หอบให้สะอึกให้ผุดขึ้นมาทั่วตัวเหมือนกับลมพิศม์ แดงดังผลตำลึงสุกเป็นนเม็ด ๆ เหมือนเมดผลแล้วกลับดำลงไปติดเนื้อให้คัน ถ้าแพทย์แก้ดีพิศม์ในนั้นคลายขึ้นแต่ผุดนั้นไม่หาย ต่อสามเดือนจึ่งตาย ไข้ลักษณดังนี้ ถ้าแพทย์ผู้ใดฉลาดแก้ไขในโรคไข้พิศม์จะรอดสักส่วนหนึ่ง ตายสามส่วน ถ้าไม่รู้จักในโรคไข้พิศม์ ตายทีเดียวร้อยคน ไม่รอดสักคนหนึ่ง ..."
ไข้กระโดงน. ไข้กาฬกลุ่มหนึ่ง การดำเนินของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง หากรักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ ไข้กระโดงน้ำ ไข้กระโดงไฟ ไข้กระโดงแกลบ และไข้กระโดงหิน ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้พระผู้เปนเจ้า จะแสงซึ่งไข้กาล มาเกิดแก่สัตวทั้งหลาย คือไข้กระโดงทั้งสี่ คือไข้กระโดงไฟหนึ่ง ไข้กระโดงน้ำหนึ่ง ไข้กระโดงหินหนึ่ง ไข้กระโดงแกลบหนึ่ง เข้ากันเปนสี่ประการ ... แต่ลักษณไข้กระโดงทั้งสี่นี้ มีอายุแต่วัน ๑ วัน ๒ วัน ถ้าแพทยจะแก้แต่วันหนึ่ง ไม่ถอยตาย บอกไว้ให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้กระโดงแกลบน. ไข้กระโดงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดเหมือนเม็ดทรายผุดขึ้นมาทั่วตัว มีอาการคันมาก ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณกระโดงแกลบนั้น มีลักษณสัณฐานผุดขึ้นมาเหมือนเม็ดทรายผุดขึ้นมาทั่วตัว ให้คันเป็นกำลังมาตรว่าจะเกาให้ทั่วตัวก็ไม่หายคัน ถึงจะเอาไม้ขูดให้โลหิตออกไปทั้งตัวก็ไม่หายคัน บอกไว้ให้แพทยพึงรู้ ..."
ไข้กระโดงน้ำน. ไข้กระโดงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ เชื่อมมัว หมดสติ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณะกระโดงน้ำนั้น จับให้นอนเชื่อมมัวไป ไม่เปนสติสมประดี ถึงจะเอารังมดแดงเข้ามาเฆาะ ให้ทั่วตัวก็มิรู้สึกตัว บอกไว้ให้แพทยพึงรู้ ..."
ไข้กระโดงไฟน. ไข้กระโดงชนิดนหึ่ง ผู้ป่วยมีอาการตัวร้อนเหมือนถูกไฟเผาทั้งตัว ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ลักษณไข้กระโดงไฟนั้น มีลักษณทำพิศม์เหมือนเปลวไฟ เผาไปทั่วกายประการหนึ่ง ..."
ไข้กระโดงหินน. ไข้กระโดงชนิดหนึ่ง ตำราว่าผู้ป่วยที่เป็นไข้ชนิดนี้จะยืนได้อย่างเดียว เมื่อนั่งลงเมื่อใดจะเจ็บปวดและทรมานมาก ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะกล่าวด้วยลักษณไข้กระโดงหิน ทำพิศม์ต่าง ๆ ไม่รู้ที่จะบอกแก่ใครได้ ให้ยืนที่เดียว ถ้าจะให้นั่งลงถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัศสาวะ แทบจะขาดใจตาย ..."
ไข้กาล, ไข้กาฬ"๑. น. โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีไข้ มีเม็ดขึ้นตามอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ ม้าม แล้วผุดออกมาที่ผิวหนังเป็นเม็ดสีดำ สีเขียว สีคราม หรือเป็นเม็ดทราย เป็นแผ่น เป็นวง ทั่วตัว ทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไป ตำราการแพทย์แผนไทยแบ่งออกเป็น ๑๐ ชนิด ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๒-๗๓] ตอนหนึ่งว่า ""... ทีนี้พระผู้เป็นเจ้าจะสแดง ซึ่งเรื่องราวไข้กาลจะมาบังเกิดแก่สัตวทั้งหลายสิบประการ คืออันใดบ้าง คือไข้ประกายดาษ ๑ ประกายเพลิง ๑ หัด ๑ เหือด ๑ งูสวัด ๑ เริมน้ำค้าง ๑ เริมน้ำเข้า ๑ ลำลาบเพลิง ๑ ไฟลามทุ่ง ๑ กำแพงทะลาย ๑ เข้ากันเปนสิบประการ ..."" ๒. น.โรคกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง และมีเม็ดผื่นขึ้นตามร่างกาย ได้แก่ ไข้ประดง ไข้กระโดง และไข้รากสาด"
ไข้กาฬแทรกไข้พิษดูใน ประดง
ไข้กำเดาน้อยน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ตาแดง ไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว ขมปาก เปรี้ยวปาก เบื่ออาหาร อาเจียน นอนไม่หลับ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๒] ตอนหนึ่งว่า "... อันลักษณะไข้กำเดา มีสองประการนั้น มีอาการให้ปวดสีศะ ให้จักษุแดง ให้ตัวร้อนเปนเปลว ให้ไอสะบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปากฃม ปากเปรี้ยวปากกินเข้าไม่ได้ แลให้อาเจียนให้นอนไม่หลับ ลักษณดังนี้เปนเพื่อไข้กำเดาน้อย ..."
ไข้กำเดาใหญ่น. โรคชนิดหนึ่ง คล้ายไข้กำเดาน้อย แต่อาการรุนแรงกว่า อาจมีอาการปวดศีรษะมาก ตาแดง ปากคอแห้ง เชื่อมมัว ปวดเมื่อย บางทีมีเม็ดขนาดเล็กซึ่งไม่มียอดผุดขึ้นมาทั่วทั้งตัว ไอเป็นเลือดออกทั้งทางจมูกและปาก ชัก เท้ากำมือกำ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๒-๘๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะแสดง ซึ่งไข้กำเดาใหญ่นั้นต่อไป มีอาการนั้นให้ปวดศีศะเปนกำลัง ให้จักษุแดงให้ตัวร้อนเปนเปลวให้ไอให้สบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปากแห้งฅอแห้งเพดานแห้งฟันแห้ง ให้เชื่อมให้มัวให้เมื่อยไปทั้งตัว จับสบัดร้อนสท้านหนาว ไม่เปนเวลา บางทีผุดขึ้นเปนเม็ดเท่ายุงกัดทั้งตว แต่เม็ดนั้นยอดไม่มี บางทีให้ไอเปนโลหิตออกมาทางจมูกทางปาก บางทีให้ชักมือกำเท้ากำ ..."
ไข้กำแพงทลายน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ฟกบวม ผิวหนังจะมีตุ่มขนาดใหญ่ผุดขึ้นมา มีลักษณะเป็นตุ่มหัวเดียว ถ้าตุ่มนี้แตกจะทำให้อาการของโรครุนแรงมาก หากรักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๔] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณกำแพงทลาย เมื่อจะตั้งเปนขึ้นนั้น มีศีศะผุดขึ้นมาหัวเดียว ทำพิศม์สงเปนกำลังให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้เชื่อมมัว ร้อนในกระหายน้ำ ให้ฟกบวมขึ้น น้ำเหลืองแตกออกพังออก วางยาไม่หยุดให้พังออกได้ตาย ..."
ไข้ข้าวไหม้น้อยน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดเล็ก ๆ ที่มียอดแหลมสีขาว ๆ ขึ้นเป็นแผ่นทั่วตัว ทำให้มีไข้สูง มือเท้าเย็น เจ็บทั้งในเนื้อและในกระดูก หอบ สะอึก เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๖] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เข้าไหม้น้อยให้จับตัวร้อนเปนเปลวไฟ ให้มือเยน ให้เท้าเยน ให้เจ็บไปทั่วสารพางค์กายให้เจ็บในเนื้อในกระดูกเปนกำลัง ให้หอบให้สอึก ให้เชื่อม ให้มัว ให้ลิ้นกระด้าง คางแขง ให้ผุดขึ้นมาเหมือนมดกัดเปนแผ่นทั่วตัว มียอดแหลมขาว ๆ ถ้าแพทย์จะแก้ให้เร่งประทับยาให้หนัก ได้บ้างเสียบ้างถ้าลอกปอกหมูไปตายทีเดียว ไม่รอดสักคนนหนึ่ง ..." , ไข้เข้าไหม้น้อย ก็เรียก

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒

อ่านต่อ...