-->

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พจนานุกรม หมวดอักษร ข (ส่วนที่ 4)

ไข้เริมน้ำค้างน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะ ผิวหนังมีเม็ดเล็ก ๆ ผุดเรียงตัวกันแน่นจนเห็นเป็นแผ่นเดียวกัน หลายกลุ่ม ภายใจนะมีน้ำใส ๆ (เรียก เริมน้ำค้าง) ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณไข้เริมน้ำค้าง เริมน้ำเข้านั้นต่อไป มีลักษณให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้จับเชื่อมมัวแล้วให้ปวดศีศะ แล้วให้ผุดขึ้นมาเปนแผ่น นิ้วหนึ่งสองนิ้วสามนิ้วสี่นิ้ว เปนเหล่า ๆ กัน น้ำใสเขาเรียกว่าเริมน้ำค้าง ถ้าน้ำขุ่นเขาเรียกว่าเริมน้ำเข้า ให้เร่งประทับยา บอกให้ให้พึงรู้ ..."
ไข้ลมเพลมพัดดู ไข้รำเพรำพัด
ไข้ลากสาดดู ไข้รากสาด
ไข้ลำลาบเพลิงน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ เชื่อมมัว ผิวหนังมีผื่นผุดขึ้นเป็นแผ่น ๆ ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนนมาก เหมือนไฟไหม้น้ำร้อนลวก หากรักษาไม่ถูกต้อง อาจถึงตายได้ ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะสำแดงลำลาบเพลิงต่อไป ลักษณลำลาบเพลิงนั้น ให้ผุดขึ้นมาเปนแผ่น ให้จับสท้านร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะ เชื่อมมัวไป ทำพิศม์ต่าง ๆ วางยาไม่ดีน้ำเหลืองแตกตาย ..."
ไข้สังวาลพระอินทร์น. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีเม็ดสีแดงขึ้นเป็นแถว พาดเฉียงบ่า ทำให้มีอาการหอบ สะอึก สะบัดร้อนสะท้านหนาว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้สังวาลพระอินทร์ มีลักษณสัณฐานผุดขึ้นเปนเมดแดง ๆ เปนแถว ถ้าหญิงขึ้นซ้าย ถ้าชายขึ้นขวา สะภายแล่งคล้ายสังวาล ให้เปนพิศม์จับหอบแลสะอึก ให้สบัดร้อน สบัดหนาว ถ้าแพทย์จะแก้ ให้ประกอบยาให้จงหนัก จะได้สักส่วนหนึ่งจะเสียสักสามส่วน ..."
ไข้สามฤดูดู ไข้เปลี่ยนฤดู
ไข้สายฟ้าฟาดน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นเป็นริ้วสีแดง สีเขียว หรือสีดำ พาดลงมาตามตัว ทำให้มีไข้สูง ร้อนในกระหายน้ำ ปากขม ปากฟันแห้ง เชื่อมมัว เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๕] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยลักษณ ไข้สายฟ้าฟาด ให้ผุดเปนริ้วลงมาตามตัวนิ้วหนึ่งสองนิ้ว ตามตัวแดงดังผลตำลึงสุกก็มี เขียวดังสีครามก็มี ดังสีผลว่าสุกก็มี ดังศีมินม่อก็มี เปนริ้วลงมาตามตัวผุดทั้งหน้าทั้งหลัง ทำพิศม์ร้อนในกระหายน้ำ ให้ปากขมปากแห้งฟันแห้ง ให้ร้อนเปนเปลวไปทั้งตัว ให้เชื่อมมัวเปนกำลังไม่มีสะติสมประดี ให้สลบลักษณไข้สายฟ้าฟาด ดังนี้ให้แพทย์เร่งแก้ให้จงดี จะได้สักส่วนหนึ่ง ตายสามส่วนบอกให้แพทย์พึงรู้ ..."
ไข้สุริยสูตรน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง มือเท้าเย็น เชื่อมมัว ไม่มีสติ ตัวแข็งเหมือนท่อนไม้ หอบ สะอึก เป็นต้น ตำราการแพทย์แผนไทยว่า ไข้นี้จะกำเริบทำให้หมดสติ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะว่าด้วยไข้สุริยสูตร ลักษณอาการ เหมือนกันกับไข้จันทรสูตร ผิดกันแต่ลักษณพระอาทิตย์ ขึ้นแล้วทำพิศม์มากขึ้น จนพระอาทิตย์ตกลางทีให้สลบ บอกไว้ให้พึงรู้ ..."
ไขเสนียดดู น้ำครำ
ไข้หงส์ระทดน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้สูง มือเท้าเย็น ผิวหนังเกรียม ตัวแข็งเหมือนท่อนไม้ เชื่อมมัว ลิ้นกระด้างคางแข็ง หอบ สะอึก เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๗-๖๘] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนีจะว่าด้วยไข้หงษ์รทด ให้จับเท้าเย็นตัวร้อนเปนเปลวเท้าเย็นมือเย็นให้เชื่อมมัว ไม่มีสติสมประดีให้หอบให้สอึก จับตัวแฃงไปเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ให้ลิ้นกระด้างคางแขงจับไม่เปนเวลา แต่ว่าไม่ผุดให้ตัวเกรียม ทั้งตัวถ้าแพทย์ผู้มีสติปัญญาจะแก้ได้ จะเสียส่วนหนึ่งรอดส่วนหนึ่ง ..."
ไข้หวัดน้อยน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอากรไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะมาก ไอ จาม มีน้ำมูก เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๑] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าคนทั้งหลายใดเมื่อจะบังเกิดไข้เปนหวัดนั้น ให้สะบัดร้อนสท้านหนาว ปวดศีสะเปนกำลัง ระวิงระไวไอจาม ให้จ้ำหมูกตก ลักษณอันหนึ่งเปนลักษณอันนี้ ไข้เพื่อหวัดน้อยอันว่าคนไข้ทั้งหลายนั้น ไม่กินยาก็หายอาบน้ำก็หายใน ๓ วัน ๕ วัน ..." , ปัจจุบันเรียก ไข้หวัด
ไข้หวัดใหญ่น. โรคนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะมาก ไอ จาม มีน้ำมูกมาก อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง เปรี้ยวปาก ขมปาก กินข้าวไม่ได้ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๘๑] ตอนหนึ่งว่า "... อันว่าคนไข้ทั้งหลายใด เมื่อจะเปนไข้นั้น ชื่อว่าหวัดใหญ่ ให้จับสบัดร้อนสท้านหนาว ให้ปวดศีศะให้ไอให้จาม น้ำหมูกตกเปนกำลัง ให้ตัวร้อนให้อาเจียน ให้ปากแห้งปากเปรี้ยวปากขมกินเข้าไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอเปนกำลังแลทำพิศม์ ฅอแห้งปากแห้งเพดานแห้งจะหมูกแห้งน้ำหมูกแห้งไม่มี บางทีกระทำให้น้ำมูกไหล บางทีแปรไปให้ย้อนเปนกำลัง เหตุดังนี้เพราะว่ามันสมองนั้นเหลว ออกไปหยดออกจากนาศิกทั้งสองข้าง หยอดลงไปปะทะกับสอเสมหะจึ่งให้ไอไปแก้มิฟัง ..."
ไข้หัดดู ไข้ออกหัด
ไข้หัดหลบในดูใน ไข้ออกหัด
ไข้หัวลมดู ไข้เปลี่ยนฤดู (โบราณมักใช้เรียกไข้เปลี่ยนฤดูที่เกิดในช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว)
ไข้เหือดดู ไข้ออกเหือด
ไข้แหงนน. โรคชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการไข้ ชักจนอกแอ่น ตำราว่าแพทย์มีเวลาเพียง ๑ วัน ที่จะรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยมีอาการตัวแอ่นมากจนเส้นท้องขาด ก็จะตายดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๘] ตอนหนึ่งว่า "... ไข้แหงนนั้นให้จับชักแอ่นเข้า จนเส้นท้องขาดตาย ไข้สองประการนี้มีอายุ ที่แพทยจะแก้ได้นั้นแต่วันเดียว ..."
ไข้ออกหัดน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีไข้ สะบัดร้อนสะท้านหนาว เชื่อมมัว ปวดศีรษะ หลังจากนั้นจะมีเม็ดคล้ายเม็ดทรายยอดแหลมผุดขึ้นทั่วตัว หากไม่มีเม็ดยอดผุดขึ้นมาโบราณเรียก หัดหลบ หรือไข้หัดหลบใน ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหหนึ่งว่า "... ทีนี้จะแสดงไข้ออกหัดออกเหือดต่อไป ให้จับสท้านร้อนสท้านหนาวให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีศะวันหนึ่งสองวัน ผุดขึ้นมาเปนเม็ดทราย ไปทั่วทั้งตัวมียอดแหลม ๆ ถ้าหลบเข้าในท้องให้ลง ลักษณหัดเหือดมีลักษณคล้ายคลึงกัน บอกไว้ให้พึงรู้ ..." , ไข้หัด ก็เรียก
ไข้ออกเหือดน. ไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้ออกหัด แต่เม็ดที่ผุดขึ้นทั่วตัวยอดแหลม ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๗๓] ตอนหนึ่งว่า "... ทีนี้จะแสดงไข้ออกหัดออกเหือดต่อไปให้จับสท้านร้อนสท้านหนาวให้เชื่อมมัว ให้ปวดศีศะวันหนึ่งสองวัน ผุดขึ้นมาเปนเม็ดทรายไปทั่วทั้งตัวมียอดแหลม ๆ ถ้าหลบเข้าในท้องให้ลงลักษณหัดเหือดมีลักษณคล้ายคลึงกัน บอกไว้ให้พึงรู้ ...", ไข้เหือด ก็เรียก
ไข้อิดำน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีดำขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ขนาดต่าง ๆ กัน ขึ้นทั่วทั้งตัว มีอาการตัวร้อน มือเท้าเย็น ตาแดง ปวดศีรษะ เป็นต้น ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๓] ตอนหนึ่งว่า "... แลลักษณไข้พิศม์นั้น คือ อิดำอิแดง ให้จับเท้าเย็นมือเย็นให้ตัวร้อนเปนเปลวไฟ ให้จักษุแดงดังแสงโลหิตร้อนเปนตอนเย็นเปนตอนหนึ่งมิได้เสมอกัน ลางทีจับแต่รุ่งจนเที่ยง ลางทีจับแต่เที่ยงจบค่ำ ลางทีจับแต่ค่ำจนรุ่ง ลางทีให้ปวดศีศะให้ผุดเป็นแผ่นนิ้วหนึ่งก็มีสองนิ้วก็มี เท่าใบพุดทราก็มี ลางทีผุดขึ้นมาเท่าใบเทียนก็มีทั่วทั้งตัว แดงก็มีดำก็มี แดงนั้นเบากว่าดำ ...", ไข้อีดำ ก็เรียก
ไข้อิแดงน. ไข้พิษไข้กาฬชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยมีผื่นสีแดงขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ขนาดต่าง ๆ กัน ขึ้นทั่วทั้งตัว มีอาการคล้ายไข้อิดำ แต่รุนแรงน้อยกว่า ดังคัมภีร์ตักกศิลา [๑/๖๓] ตอนหนึ่งว่า "... แลลักษณไข้พิศม์นั้น คืออิดำอิแดง ให้จับเท้าเย็นมือเย็นให้ตัวร้อนเปนเปลวไฟใหจักษุแดงดังแสงโลหิตร้อนเปนนตอนเย็นเปนตอน หนึ่งมิได้เสมอกัน ลางทีจับแต่รุ่งจนเที่ยง ลางทีจับแต่เที่ยงจบค่ำ ลางทีจับแต่ค่ำจนรุ่ง ลางทีให้ปวดศีศะให้ผุดเป็นแผ่นนิ้วหนึ่งก็มีสองนิ้วก็มี เท่าใบพุดทราก็มี ลางทีผุดขึ้นมาเท่าใบเทียนก็มีทั่วทั้งตัว แดงก็มีดำก็มี แดงนั้นเบากว่าดำ ...", ไข้อีแดง ก็เรียก
ไข้อีดำดู ไข้อิดำ
ไข้อีแดงดู ไข้อิแดง

ข้อมูลจาก พจนานุกรม ศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๒


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น